Views 2170
2025-06-11 12:00
ผู้บริโภคในไทยมีแนวโน้มสนับสนุนและเลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มที่มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยผลสำรวจของ PwC พบว่า 76% ของผู้บริโภคไทยต้องการซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด และ 78% เลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่สนับสนุนการปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
ดังนั้นจึงเกิดเทรนด์การตลาดที่ชื่อว่า Sustainability หรือการตลาดแบบยั่งยืนขึ้นมาเพื่อต่อยอดสู่อนาคตและตอบสนองต่อความต้องการของคนในปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลัง หนึ่งในนั้น คือ บรรจุภัณฑ์ที่กินได้ หรือ Edible packaging ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ปัญหานี้
Edible Packaging หรือ บรรจุภัณฑ์กินได้ คือ บรรจุภัณฑ์ที่ถูกออกแบบด้วย Food Technology ให้สามารถรับประทานได้ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหากับร่างกาย โดยทั่วไปทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ เช่น สาหร่าย แป้ง โปรตีน และโพลีแซ็กคาไรด์ ซึ่งไม่เพียงแต่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์ด้านการใช้งาน เช่น ทนทานต่อความชื้นและยืดอายุการเก็บรักษาสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารได้อีกด้วย
จากรายงานของ Transparency Market Research พบว่า ความต้องการบรรจุภัณฑ์กินได้อาจเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6.9% ต่อปีไปจนถึงปี 2024 และอาจกลายเป็นตลาดที่มีมูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก (อ้างอิง)
โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ข้อมูลของ Research And Market คาดว่าจะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด โดยมี CAGR ที่ 7.1% ในช่วงคาดการณ์ปี 2024-2030 การเติบโตนี้ขับเคลื่อนโดย
- ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น
- ความคิดริเริ่มของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดขยะพลาสติก
- ประชากรที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นแรงผลักดันความต้องการโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน
- อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่กำลังขยายตัวในภูมิภาค ส่งผลให้มีการนำบรรจุภัณฑ์ที่สร้างสรรค์มาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวัสดุ เช่น บรรจุภัณฑ์จากสาหร่ายและข้าว ร่วมกับกระบวนการผลิตที่คุ้มทุน ช่วยเร่งการเติบโตของตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เร็วขึ้นด้วย
ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลดขยะพลาสติกมากขึ้น ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคสำหรับทางเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติ เป็นมิตรต่อคนที่บริโภคมังสวิรัติ ยิ่งสนับสนุนให้แหล่งบรรจุภัณฑ์ที่มาจากพืชครองตลาด นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุเพื่อปรับปรุงการทำงานและความทนทานของบรรจุภัณฑ์กินได้ ที่ทำจากพืชเป็นแรงผลักดันให้มีการนำไปใช้ในวงกว้างมากขึ้น
⦁ ลดขยะพลาสติก : เมื่อเป็นรูปแบบกินหรือย่อยสลายได้ ก็ไม่เหลือขยะตกค้าง
⦁ ย่อยสลายง่าย : หากไม่กินก็สามารถย่อยสลายทางชีวภาพหรือเป็นปุ๋ยหมักได้
⦁ ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ : ผลิตจากวัตถุดิบเกรดอาหาร และบางชนิดมีสารอาหารเสริม เช่น สาหร่ายมีใยอาหารและแร่ธาตุ
⦁ สะดวกสบาย : ไม่ต้องแกะบรรจุภัณฑ์ก่อนกิน เช่น ฟิล์มข้าวห่อซูชิ หรือฟิล์มละลายน้ำสำหรับซุปสำเร็จรูป
⦁ ขยายอายุอาหาร : ฟิล์มบางชนิดมีคุณสมบัติกันออกซิเจนและความชื้น ช่วยยืดอายุอาหาร
1. ประเภทฟิล์ม เป็นแผ่นฟิล์มที่ผลิตแยกออกมาก่อน แล้วนำไปใช้ห่อหุ้มหรือบรรจุอาหาร เช่น ฟิล์มห่อขนม ฟิล์มห่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือแคปซูลน้ำดื่มที่กินได้ ฟิล์มเหล่านี้ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น สาหร่าย แป้งมันฝรั่ง โปรตีนจากนม หรือข้าว สามารถย่อยสลายทางชีวภาพและรับประทานได้ทั้งชิ้น
2. ประเภทสารเคลือบ เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเคลือบลงบนผิวของอาหารโดยตรง อาจเป็นสารเคลือบหรือชั้นผิวระหว่างส่วนต่างๆ ของผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกัน และด้วยคุณสมบัติของโพลีเมอร์ชีวภาพ จึงทำให้บรรจุภัณฑ์กินได้มีความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพได้ เช่น หากเหลือพร้อมกับเศษอาหารก็สามารถนำไปบดผสมเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ หรือหากนำไปทิ้ง ก็ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติในระยะเวลาไม่นาน (อ้างอิง)
⦁ Edible Packaging กลุ่มโปรตีน
คุณสมบัติ
- การสร้างฟิล์มที่ยอดเยี่ยม
- ความสามารถในการย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
- ความสามารถในการสร้างเกราะป้องกันออกซิเจน น้ำมัน และความชื้น
โดยโปรตีน เช่น เวย์ เคซีน และถั่วเหลือง ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากโปรตีนเหล่านี้มีอยู่มาก จึงสามารถหมุนเวียน และมีโครงสร้างและคุณสมบัติการใช้งานที่เหมาะสมสำหรับการทำบรรจุภัณฑ์ ความเข้ากันได้กับผลิตภัณฑ์อาหารและเพิ่มอายุการเก็บรักษาทำให้โปรตีนเหล่านี้เป็นตัวเลือกที่ต้องการของผู้ผลิต
⦁ Edible Packaging กลุ่มโพลีแซ็กคาไรด์
คุณสมบัติ
- มีปริมาณมากตามธรรมชาติ
- ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
- มีคุณสมบัติในการสร้างฟิล์มที่ดีมาก วัสดุต่างๆ เช่น แป้ง เซลลูโลส และอัลจิเนต ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสามารถสร้างบรรจุภัณฑ์ที่ทนทานและยืดหยุ่นได้
- ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันก๊าซและน้ำมัน ป้องกันการถูกออกซิไดซ์
- ความเข้ากันได้กับผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ
- การดัดแปลงเพื่อเพิ่มคุณสมบัติเชิงกล ไม่ว่าจะเป็น ความแข็งแรง ความทนทาน ความยืดหยุ่นและทนต่อความร้อน
นอกจากนี้ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนจากพืช รวมถึงความก้าวหน้าทางวัสดุศาสตร์ที่ใช้โพลีแซ็กคาไรด์ เป็นแรงผลักดันให้มีการนำไปใช้อย่างรวดเร็วในตลาดบรรจุภัณฑ์
ผู้ประกอบการที่กำลังมองหาบรรจุภัณฑ์กินได้ให้กับสินค้าตัวเอง มาดูกันดีกว่าว่ามีผลิตภัณฑ์ไหนบ้างที่น่าสนใจ
⦁ หยดน้ำกินได้
Notpla บริษัทสตาร์ทอัพจากกรุงลอนดอน ได้พัฒนาซองบรรจุภัณฑ์ “Ooho” เป็นบรรจุภัณฑ์ใส่ของเหลวไว้ในฟิล์มกันน้ำ ลักษณะเป็นบับเบิ้ลใสเหมือนหยดน้ำ ที่ทำมาจากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลและแคลเซียมคลอไรด์ ให้ผู้บริโภครับประทานบรรจุภัณฑ์ไปพร้อมกับการดื่มน้ำที่บรรจุไว้ในแคปซูลนี้ได้เลย โดยตัวแคปซูลสามารถย่อยสลายได้เองใน 4-6 สัปดาห์ แคปซูลนี้ไม่มีสี ไม่มีรสชาติ รับประทานได้ทั้งหมด และได้มีการต่อยอดแคปซูลมาใช้บรรจุเครื่องดื่มและของเหลวอื่น ๆ เช่น ซอสมะเขือเทศ หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์สำหรับเสิร์ฟในงานเลี้ยง งานกิจกรรม
⦁ แก้วและหลอดกินได้
Loliware สตาร์ทอัปจากนิวยอร์ก เป็นสตาร์ทอัปบรรจุภัณฑ์กินได้อีกหนึ่งเจ้าที่นำเสนอแก้วกินได้ที่ผลิตจากสาหร่ายทะเล สีสันสดใสที่ได้จากผักและผลไม้ หรือ “Loliware biodegr(edible) cups” โดยสามารถใช้งานซ้ำได้มากกว่า 1 ครั้งหากไม่กินแก้วนี้ไปเสียก่อน และล่าสุดคือ “Lolistraw” หลอดกินได้จากสาหร่ายทะเล ที่มีรูปทรงและคุณสมบัติเหมือนหลอดพลาสติกทั่วไป ผลิตจากพืช 100% ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติใน 60 วัน โดยรสชาติและกลิ่นของหลอดได้มาจากผักและผลไม้ เช่น กุหลาบ ส้ม วานิลลา เป็นต้น หลอดสำหรับเครื่องดื่มนี้มีอายุการใช้งานได้นานถึง 24 ชั่วโมง ไม่เปื่อยยุ่ย และมีราคาไม่สูงเหมือนหลอดทางเลือกอื่น ๆ ที่ผลิตมาทดแทนหลอดพลาสติกในปัจจุบัน
⦁ ซองบะหมี่สำเร็จรูปกินได้
Holly Grounds ซองบะหมี่สำเร็จรูปกินได้จากนักศึกษาด้านการออกแบบจากลอนดอน พัฒนาจากฟิล์มไบโอพลาสติก ที่ประกอบไปด้วยส่วนผสมง่าย ๆ เพียง 3 อย่าง คือ แป้งมันฝรั่ง กลีเซอรีน และน้ำ ให้เป็นแผ่นฟิล์มที่สามารถห่อหุ้มเส้นบะหมี่และเครื่องปรุงได้ เมื่อใส่ลงไปในน้ำร้อน ฟิล์มจะละลายเป็นน้ำซุปของบะหมี่ โดยซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินได้นี้จะถูกห่อด้วยกระดาษรีไซเคิลที่เคลือบขี้ผึ้งไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อให้มั่นใจถึงความสะอาด ไม่ปนเปื้อน
⦁ หลอดกินได้
หลอดกินได้จากข้าวและพืช เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจของบริษัท กัญจนาพร(สยาม) จำกัด ที่ได้ต่อยอดธุรกิจจากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าว โดยเป็นหลอดที่ทำมาจากข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และบุก เป็นหลอดใส ไม่มีสารเคมี ไม่มีกลิ่น โดยอยู่ตัวในน้ำร้อนได้ประมาณ 3-5 นาที หรือ 12 ชั่วโมงในน้ำเย็น หลังจากนั้นจะอ่อนตัวลงและสามารถรับประทานได้ โดยตัวหลอดเองจะสามารถย่อยสลายได้ภายใน 30 วัน
⦁ ฟิล์มอาหารกินได้
ฟิล์มแคร์รอตหุ้มอาหาร ฟิล์มห่อหุ้มอาหารที่ทำจากแคร์รอตเป็นบรรจุภัณฑ์กินได้ โดยวางแผนนำไปผลิตเป็นฟิล์มห่อลูกอมและผลไม้กวน เพราะมีคุณสมบัติต้านทานการซึมผ่านก๊าซออกซิเจนอยู่ในระดับที่ดี ช่วยต้านการเสื่อมคุณภาพของผลิตภัณฑ์และอาหารจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และมีคุณค่าทางโภชนาการเพราะให้สารเบต้าแคโรทีนสูงถึง 3,465 ไมโครกรัมต่อฟิล์มแคร์รอต 1 แผ่น
- การเลือกวัตถุดิบต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร (เช่น FDA)
- ศึกษาตลาดและความพร้อมของผู้บริโภคต่อการยอมรับผลิตภัณฑ์
- ศึกษาเรื่องต้นทุนการผลิต เนื่องจากเทคโนโลยีมีราคาที่สูงกว่ารูปแบบพลาสติกทั่วไป
- การตลาดที่สามารถสร้างจุดขายด้านความยั่งยืนและนวัตกรรมให้กับแบรนด์ได้น่าอย่างสนใจ
Edible packaging เป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ ที่น่าสนใจในปีนี้และต่อไปในอนาคต สำหรับการลดขยะพลาสติกและขยะจากอาหาร โดยการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติที่กินได้และปลอดภัยต่อสุขภาพมาเป็นบรรจุภัณฑ์ แม้จะยังมีข้อจำกัดด้านต้นทุนและความทนทาน แต่ด้วยนวัตกรรมและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กูรูเช็คเชื่อว่าบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้มีแนวโน้มเติบโตได้มากขึ้นจากข้อมูลทางการตลาด และสามารถเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนในอนาคตได้
“กูรูเช็ค” ชุมชนที่รวมเจ้าของแบรนด์อาหารเสริม สกินแคร์ ไว้มากที่สุดในไทย!!! อยากอัพเดทงานวิจัย เทรนด์ อาหารเสริม สกินแคร์ สามารถ join group LINE : @gurucheckacademy เพื่ออัพเดตข้อมูลก่อนใครได้ฟรี!! หรือคลิ๊กที่ลิงค์นี้ได้เลยค่ะ https://line.me/R/ti/p/@gurucheckacademy
(สำหรับติดต่อโฆษณา)
“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “