Views 12535
2023-05-12 15:00
(กูรูเช็ค) พาคุณๆเช็ค ข้อควรรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ที่เป็นได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย!
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบอุบัติการณ์มาก อันดับแรกในหญิงไทยและหญิงทั่วโลก สามารถพบโรคนี้ ได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย จากการรณรงค์การตรวจ ปัจจุบันใช้การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammogram) ทำให้แพทย์ สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรก
• พบก้อนที่เต้านมหรือที่รักแร้ บ่อยครั้งสาเหตุที่คนไข้มาหาหมอ มาจากก้อนที่เต้านมเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ อาการเจ็บเต้านม ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำหรือส่งตรวจทางรังสีเพิ่มเติม
• ลักษณะเต้านมเปลี่ยนแปลงไป รูปทรงและขนาดของเต้านมเปลี่ยนไปจากเดิม อาจพบผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม
• มีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนม
• ลักษณะหัวนมที่เปลี่ยนแปลงไป สีหรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมที่เปลี่ยนไปจากเดิม หัวนมที่เคยปกติกลายเป็นหัวนมบอด อาจเกิดจากมีก้อนเนื้อมะเร็งใต้หัวนม ที่ลุกลามไปที่ท่อน้ำนมและดึงรั้งหัวนมให้บุ๋มลง อาจมีแผลที่หัวนมและรอบหัวนม
• เจ็บผิดปกติที่เต้านมหรือที่รักแร้
ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่นอนถึงสาเหตุของมะเร็งเต้านม แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้เกิดโรคได้มากขึ้น ดังนี้
• อายุ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ยิ่งอายุมากขึ้นโดยผู้หญิงวัย 60 ปีขึ้นไป ยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูง
• เพศ มะเร็งเต้านมจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
• พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 2 คน มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้สูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้
• เคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม หรือซีสเต้านมชนิดที่เริ่มผิดปกติมาก่อน ผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างใดข้างหนึ่งมาก่อนมีโอกาสในพัฒนาการเกิดมะเร็งกับเต้านมอีกข้างมากขึ้น หรืออาจเกิดกับเต้านมข้างเดิมได้เช่นกัน
• มีช่วงอายุของการมีประจำเดือนนาน เริ่มมีประจำเดือนมาครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย และหมดประจำเดือนช้า(ผู้ที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี)
• เชื้อชาติ พบในคนเชื้อชาติในประเทศตะวันตกมากกว่าเอเชีย
• พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนกับสารเคมี หรือพฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารไขมันสูง เป็นต้น
• การใช้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน หลังหมดประจำเป็นเวลานาน
การวินิจฉัยด้วยตนเอง สามารถทำได้โดยการมองด้วยตาเปล่าเพื่อดูลักษณะที่ผิดปกติและการคลำ สามารถตรวจเช็คเต้านมด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 20 ปี ขึ้นไป โดยทำเป็นประจำทุกเดือน
เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจเต้านมที่โรงพยาบาล อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งมีวิธีการตรวจดังนี้
วิธีที่ 1 การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม
วิธีที่ 2 การเอกซเรย์เต้านม หรือแมมโมแกรม(Mammogram) ร่วมกับอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)
วิธีที่ 3 การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging, MRI)
วิธีที่ 4 การเจาะชิ้นเนื้อ(Biopsy)
ทางเลือกในการรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี ดังนี้
• การผ่าตัด(Surgery) เป็นการรักษาที่แพทย์มักใช้กับผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้น โดยการผ่าตัดมี 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบสงวนเต้านมไว้ (Partial Mastectomy) และ การผ่าตัดแบบตัดเต้านมออก (Total Mastectomy)
• การฉายรังสี(Radiation Therapy)
• การรักษาด้วยเคมีบำบัด(Chemotherapy)
• การรักษาด้วยการให้ยาต้านฮอร์โมน
• สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่แน่ชัด ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
• ควรตรวจเต้านมของตนเองตั้งแต่ 20 ปีเป็นต้นไป และทำเป็นประจำทุกเดือน
• เมื่ออายุ 40 ปี ขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจเต้านมจากแพทย์หรือพยาบาลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
• ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์เต้านม ประมาณปีละ 1 ครั้ง
• ระวังเรื่องการได้รับฮอร์โมนติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเพศหญิงเสริม เช่น ผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนหมดหรือการผ่าตัดไข่ออกก่อนเวลาอันควร
• หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงสารเคมีที่เป็นโทษต่อร่างกาย เป็นต้น
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ
(สำหรับติดต่อโฆษณา)
“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “