Views 2938
2024-04-19 10:00
(กูรูเช็ค) อัปเดตงานวิจัยโพรไบโอติกที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนและภาวะซึมเศร้า
ดูเพิ่มเติม
งานวิจัยนี้เป็นการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโพรไบโอติกที่มีผลต่อภาวะซึมเศร้าและโรคอ้วน โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Calisia และมหาวิทยาลัย Rzeszow ในโปแลนด์ โดยสำรวจบทบาทของจุลินทรีย์ในลำไส้ต่อภาวะโรคซึมเศร้าและโรคอ้วน และประเมินประโยชน์ที่เป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพรไบโอติกสำหรับบรรเทาอาการโรคซึมเศร้าและลดน้ำหนัก (1) ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตถึงความสำคัญของงานวิจัยนี้ เนื่องจากการมีภาวะโรคอ้วนและโรคซึมเศร้าร่วกันแสดงถึง "ภาวะโรคร่วม" ที่ต้องการการดูแลด้านสุขภาพที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือจุลินทรีย์ในลำไส้ก็มีส่วนเกี่ยวกับการป้องกันภาวะต่างๆ เหล่านี้ได้ กูรูเช็คจึงอยากนำเสนอในแง่มุมงานวิจัยโพรไบโอติกว่าเกี่ยวข้องกับโรคเหล่านี้ และโพรไบโอติกสายพันธุ์ไหนบ้างที่ช่วยลดหรือชะลออาการต่างๆ เหล่านี้ได้บ้าง มาดูกันเลยค่ะ
มีหลักฐานงานวิจัยจำนวนมากขึ้นที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายของความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีผลต่อสุขภาพจิต ซึ่งการทบทวนงานวิจัยเหลานี้ชี้ให้เห็นว่าสามารถแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือภาวะซึมเศร้าได้ด้วยการปรับไมโครไบโอม
โพรไบโอติกช่วยเสริมความแข็งแรงโครงร่างของเซลล์ การหลั่งเมือก และการเกิดกระบวนการ phosphorylation ของโปรตีนที่จุด tight junction ให้เกิดความแน่นหนาเพื่อปกป้องลำไส้ และการผลิตเพปไทด์หรือโปรตีนที่สังเคราะห์จากไรโบโซมของโพรไบโอติก รวมทั้งกรดอินทรีย์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
โพรไบโอติกเหล่านี้สามารถผลิตวิตามินบี ซึ่งมีความสำคัญต่อสาเหตุของภาวะซึมเศร้า รวมทั้งลดไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ และทำหน้าที่เป็นแหล่ง Short Chain Fatty Acid (SCFA) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการต้านการอักเสบ
การทำงานของโพรไบโอติกที่เป็นระบบเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการหลั่งสารออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เช่น GABA หรือที่เรียกว่า gamma-aminobutyric acid ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีฤทธิ์ช่วยใช้สมองผ่อนคลาย ช่วยชะลอการตอบสนองต่อความเครียด นอกจากนี้ยังมีผลต่อการหลั่งเซโรโทนินที่เป็นฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับอารมณ์รวมถึงการนอนหลับ
นอกจากนี้โพรไบโอติกอาจส่งผลต่อ HPA axis (แกนไฮโปทาลามัส–ต่อมใต้สมอง–ต่อมหมวกไต) ซึ่ง HPA axis นี้ทำให้อาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลรุนแรงขึ้น แต่โพรไบโอติกสามารถเพิ่มความเข้มข้นของออกซิโตซิน (oxytocin) ที่เป็นฮอร์โมนแห่งความรักและความผูกพันธ์ในร่างกาย (2) ลดการทำงานของ HPA axis และมีส่วนช่วยในการควบคุมการทำงานของ HPA axis เพื่อการตอบสนองต่อความเครียดและลดความวิตกกังวล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Lactobacillus plantarum สายพันธุ์ 299V และ PS128 (3) มีรายงานว่ามีผลดีต่ออารมณ์ในภาวะซึมเศร้า และ Bifidobacterium infantis มีผลดีในการควบคุม HPA axis
โพรไบโอติก L. fermentum สายพันธุ์ NS8 และ NS9, L. gasseri OLL2809 และ L. casei Shirota เป็นสายพันธุ์เพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่พบว่ากระตุ้นการทำงานของระบบประสาทโดยตรง ควบคุมปัจจัยทางระบบประสาท ลดความเครียด และลดอาการซึมเศร้าได้อย่างมีนัยสำคัญ (4) นอกจากนี้ L. helveticus ยังส่งผลให้ระดับ corticosterone ในเลือดลดลง และเพิ่มระดับ serotonin และ norepinephrine ได้อีกด้วย
ในทำนองเดียวกัน ก็มีรายงานวิจัยก่อนหน้านี้ได้ระบุว่าโพรไบโอติกก็มีผลต่อการบรรเทาความผิดปกติของระบบเผาผลาญในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
microbiota แสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างบุคคลที่มีรูปร่างผอมและเป็นโรคอ้วน ในบุคคลที่มีน้ำหนักเกิน จะมีลักษณะเฉพาะคือความหลากหลายของจุลินทรีย์ลดลงและการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรคซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ในขณะที่จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ สิ่งนี้นำไปสู่กลไกวิถีเมแทบอลิซึมต่างๆ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยทางสาเหตุของโรคอ้วน
จากรายงานการศึกษาผลกระทบของ L. gasseri SBT2055 ต่อการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนร่างกายในคน 43 คนที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน จากนั้นให้ผู้ป่วยบริโภค kefir ที่เป็นนมหมักกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ มีรสคล้ายโยเกิร์ตแต่จะเข้มข้นกว่าเป็นเวลา 12 สัปดาห์ และผลลัพธ์ที่ได้พบว่าโพรไบโอติกทำให้น้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย เอว เส้นรอบวงสะโพก และไขมันในอวัยวะภายในลดลง (5)
Zarrati และคณะ ศึกษาการควบคุมน้ำหนักซึ่งเป็นผลมาจาก L. acidophilus La5, L. casei DN001 และ B.lactis Bb12 พบว่าในกลุ่มที่บริโภคโยเกิร์ตโพรไบโอติก ค่า BMI และเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายลดลงอย่างชัดเจน และควบคุมระดับ leptin ที่เป็นฮอร์โมนควบคุมความอิ่ม (6)
Sanchez และคณะ ศึกษาผลกระทบของ L. rhamnosus CGMCC1.3724 ร่วมกับการเสริมโอลิโกฟรุคโตสและอินนูลิน ต่อการลดน้ำหนักและรักษาน้ำหนักในชายและหญิงที่เป็นโรคอ้วนในช่วง 24 สัปดาห์ พบว่าผู้หญิงในกลุ่มที่ได้รับ L. rhamnosus มีการลดน้ำหนักมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายใน 12 สัปดาห์แรก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของจำนวนแบคทีเรียในตระกูล Lachnospiraceae ในอุจจาระ (7)
จากงานวิจัยนี้ตั้งข้อสังเกตว่าผลลัพธ์ที่พบในแบบจำลองสัตว์อาจไม่ได้แปลเป็นมนุษย์โดยตรงเสมอไป อีกทั้งการตอบสนองของแต่ละคนต่อโrรไบโอติกอาจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดความท้าทายในการทำนายประสิทธิภาพของโrรไบโอติกในระดับสากล ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อสร้างประสิทธิภาพของโพรไบโอติกในมนุษย์ผ่านการทดลองทางคลินิกที่ออกแบบมาอย่างดี
การทดลองเหล่านี้ควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ความจำเพาะของสายพันธุ์โปรไบโอติก ปริมาณ ระยะเวลาในการรักษา และลักษณะของประชากรเป้าหมาย ยิ่งกว่านั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักว่าการแทรกแซงด้วยโพรไบโอติกไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาได้เพียงวิธีเดียว แต่ควรพิจารณาในบริบทของปัจจัยการบริโภคอาหารและไลฟ์สไตล์โดยรวมร่วมด้วย
ปัจจัยที่ระบุว่าอาจส่งผลต่อประสิทธิผลของโพรไบโอติก ได้แก่ คุณภาพอาหาร การออกกำลังกาย ระดับความเครียด และรูปแบบการนอนหลับ ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวทางเฉพาะบุคคลและหลากหลายแง่มุมในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของโพรไบโอติก
สำหรับวันนี้ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ
(สำหรับติดต่อโฆษณา)
“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “