เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views 2367

2024-05-27 18:00

(กูรูเช็ค) โพรไบโอติก แต่ละสายพันธุ์ ประโยชน์ต่างกันยังไง เลือกตัวไหนดี

กูรูเช็ค

• โพรไบโอติก (Probiotics) คืออะไร?

โพรไบโอติก คือ  จุลินทรีย์ขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดีที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเรา ส่วนมากสามารถพบได้ในระบบทางเดินอาหารของร่างกาย โพรไบโอติกในระบบทางเดินอาหารจะทนทานต่อกรดและด่าง เมื่ออยู่ที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้จะสามารถผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ดีได้ ทำให้ลำไส้แข็งแรง นอกจากในระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังพบโพรไบโอติกในบริเวณอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในระบบทางเดินหายใจ ภายในช่องปาก บริเวณผิวหนัง ทางเดินปัสสาวะ และมดลูก เป็นต้น ทำความรู้จัก “โพรไบโอติก” เพิ่มเติม คลิ๊ก!

• ประเภทของจุลินทรีย์โพรไบโอติก

จุลินทรีย์โพรไบโอติกในร่างกายของเราไม่ได้มีเพียงชนิดเดียว แต่มีอยู่หลากหลายประเภท ซึ่งล้วนส่งผลดีต่อร่างกายแตกต่างกันไป ประเภทของโพรไบโอติก มีดังนี้
 1. แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus)
แลคโตบาซิลลัส พบมากที่สุดในกลุ่มโพรไบโอติก กลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่เกาะติดลำไส้ มีประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมได้ อาหารที่พบแลคโตบาซิลลัส เช่น อาหารหมักดอง โยเกิร์ต นมเปรี้ยว
 
2. แซคคาโรไมซิส (Saccharomyces Boulardii)
แซคคาโรไมซิส เป็นยีสต์ที่พบได้ในกลุ่มโพรไบโอติก ไม่มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์ตามธรรมชาติ แซคคาโรไมซิสช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และบรรเทาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านทางเดินอาหาร
 
3. บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)
บิฟิโดแบคทีเรียม เป็นหนึ่งในจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่เรียกกันได้ว่าดีที่สุด เพราะช่วยบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน จากงานวิจัยพบว่าโพรไบโอติกชนิดนี้ช่วยผลิตสารตั้งต้นของภูมิต้านทานในร่างกายได้ บิฟิโดแบคทีเรียมพบได้ในอาหารประเภทนม

 4. จุลินทรีย์โพรไบโอติกประเภทอื่นๆ
จุลินทรีย์โพรไบโอติกประเภทอื่น ที่ใช้ทางด้านการแพทย์อีกด้วย เช่น 
• Lactobacillus spp. – L. reuteri, L. Casei, L. Acidophilus, L. Bulgaricus, L.brevis, L. Rhamnosus
• Saccharomyces boulardii 
• Enterogermina – Bacillus clausii, Bacillus subtilis
• Bifidobacterium spp. – B. Bifidum, B. Longum, B. Breve, B.infantis
• Streptococcus thermophilus

โพรไบโอติกจัดเป็นจุลินทรีย์ที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นหรือ normal flora อย่างหนึ่งในทางเดินอาหาร หากร่างกายมีสุขภาพดีก็จะมีการรักษาสมดุลจุลินทรีย์ให้เป็นปกติ แต่ถ้าหากมีอะไรไปรบกวนสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย  จุลินทรีย์ประจำถิ่นในลำไส้ถูกรุกราน อาจเกิดผลกระทบตามมาได้ เรามาทำความรู้จักโพรไบโอติกแต่ละสายพันธุ์ที่สำคัญต่อลำไส้ ว่ามีตัวไหนบ้าง (อ้างอิง)

• โพรไบโอติก (Probiotics) มีกี่สายพันธุ์ แต่ละประเภทต่างกันยังไง?

• Bifidobacterium Bifidum (B.bifidum) พบได้ทั่วไปในลำไส้ใหญ่และช่องคลอด ถือเป็นโพรไบโอติกที่สำคัญ ช่วยป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค โดยไปยึดเกาะผนังลำไส้ คอยเพิ่มจำนวนและแย่งสารอาหารจากจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ดี
• เสริมภูมิคุ้มกัน
• ช่วยเพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุ
• ลดโอกาสการเกิดโรคในลำไส้
• ผลิตกรดแล็กติก และยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดไม่ดี

• Bifidobacterium breve (B.breve) พบบริเวณลำไส้ส่วนล่างของทารกและผู้ใหญ่บางราย และยังอาจพบในช่องคลอดของผู้ใหญ่ เป็นจุลินทรีย์ที่ดี สามารถช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ซึ่งเด็กคลอดธรรมชาติจะมีโอกาสได้รับจุลินทรีย์ชนิดนี้ตั้งแต่แรกเกิดผ่านทางช่องคลอดของแม่ ทำให้เด็กคลอดธรรมชาติมีพื้นฐานร่างกายที่แข็งแรง
• ช่วยลดการอักเสบ
• ช่วยในการย่อยอาหาร
• เสริมการทำงานของลำไส้
• ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง

• Bifidobacterium lactis (B.lactis) พบมากในลำไส้ใหญ่ ทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร มีชีวิตอยู่ในลำไส้ได้นาน และมีงานพบว่า B.lactis มีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังอักเสบ ช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T (T lymphocytes) และเซลล์ NK Cell (Natural Killer Cells) ทั้งหมด ส่งผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น (อ้างอิง)
• ช่วยในการย่อยอาหาร
• เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
• ช่วยกำจัดของเสียในร่างกาย
• ช่วยในการดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุในลำไส้ให้ดียิ่งขึ้น

• Bifidobacterium longum (B.longum) เป็นแบคทีเรียชนิดกรดแล็กติกที่สามารถหลั่งกรดแล็กติกและกรดแอซีติก จึงมีความต้านทานต่อสภาพที่เป็นกรด มีคุณสมบัติในการซ่อมแซมเยื่อบุผนังทางเดินอาหารและควบคุมลำไส้มีความสมดุล
• ลดระยะเวลาของอาการท้องเสีย
• ช่วยในการรักษาเด็กอ่อนที่มีอาการแพ้แล็กโตส
• ลดโอกาสท้องผูกจากการอั้นอุจจาระ

• Lactobacillus acidophilus (L.acidophilus) เป็นแบคทีเรียชนิดกรดแล็กติก มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ชนิดที่ทำให้เกิดโรค ช่วยเพิ่มความต้านทานต่อเชื้อโรค L.acidophilus อาจสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด L.acidophilus มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องเสียจากยาปฏิชีวนะ ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพในผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้รวมถึงโรคผิวหนังอักเสบ L.acidophilus พบได้ตามธรรมชาติในโยเกิร์ต อาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และปากมดลูก 
• ป้องกันร่างกายจากเชื้อก่อโรค
• ช่วยส่งเสริมการดูดซึมสารอาหารในลำไส้
• ลดความเสี่ยงของการเกิดเซลล์มะเร็ง

• Lactobacillus gasseri (L.gasseri) เป็นโพรไบโอติกที่มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของการควบคุมน้ำหนัก ลดไขมันในช่องท้อง เส้นรอบเอวและเส้นรอบสะโพก ส่วนใหญ่พบในน้ำนมของแม่ โดยหน้าที่สำคัญหลักๆ คือ 
เสริมสร้างการสังเคราะห์ Growth Hormone 
• สังเคราะห์ Gassericin A ในร่างกายซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้กับจุลินทรีย์ชนิดไม่ดี 
ลดความเครียดและช่วยให้การนอนมีคุณภาพขึ้น รวมถึงลดอาการท้องผูกจากสาเหตุความเครียด 
• คุมน้ำหนัก และลดความเสี่ยงการเกิดกลุ่มอาการการเผาผลาญผิดปกติ (อ้วนลงพุง)

• Lactobacillus helveticus (L.helveticus) เป็นโพรไบโอติกที่มีแหล่งกำเนิดมาจากผลิตภัณฑ์นม เป็นแบคทีเรียชนิดกรดแล็กติกที่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ 
• กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
• ช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง
• ช่วยส่งเสริมระบบการย่อยอาหาร
• ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียที่ไม่แข็งแรง

• Lactobacillus paracasei (L.paracasei) งานวิจัยพบว่า เชื้อ L.paracasei NCC2461 ช่วยลดการอักเสบและช่วยให้การบีบตัวในระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome: IBS) ให้ดีขึ้นได้ (อ้างอิง)
• บรรเทาอาการท้องอืด อาการปวด
• สุขภาพช่องปากดีขึ้น ลดอาการฟันผุ
• ป้องกันการติดเชื้อ

• Lactobacillus plantarum (L.plantarum) มีต้นกำเนิดจากพืช แบคทีเรียชนิดนี้ผลิตกรดแล็กติกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย L.plantarum อาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคไขข้ออักเสบ ระดับคอเลสเตอรอลสูงในเลือด โรคติดเชื้อ โรคลำไส้แปรปรวน ช่วยลดอาการอืดแน่นไม่สบายท้องในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนได้ และอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง (อ้างอิง)
• ยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียตัวร้าย
• ช่วยการดูดซึมสารอาหารในลำไส้
• ลดภาวะการแพ้น้ำตาลแลคโตส
• ช่วยควบคุมระบบภูมิค้มกันให้อยู่ในภาวะปกติ
• ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

• Lactobacillus reuteri (L.reuteri) เป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ที่มีต้นกำเนิดมาจากน้ำนมแม่ เป็นหนึ่งในโพรไบโอติกสำหรับเด็ก เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับหลายชิ้นว่า โพรไบโอติกชนิดนี้อาจช่วยให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
• ลดอาการภูมิแพ้และโรคทางเดินหายใจ
• ลดอาการผื่นแพ้ในเด็กเล็ก

• Lactobacillus rhamnosus (L.rhamnosus) เป็นแบคทีเรียที่มีความทนทานต่อกรดในกระเพาะอาหาร พบได้ในลำไส้เล็กและช่องคลอด มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะ มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง ช่วยลดภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity) ช่วยรักษาผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบ โรคภูมิแพ้ ภูมิแพ้อาหาร และอื่นๆ
• เสริมความแข็งแรงของผนังลำไส้
• ลดความเสี่ยงของอาการท้องเสีย 
• บรรเทาอาการแพ้ และส่งเสริมสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง
• ช่วยให้การย่อยและการดูดซึมสารอาหารให้ดีขึ้น

• Streptococcus thermophilus เป็นแบคทีเรียที่มีการนำไปใช้ในการผลิตโยเกิร์ต โดยแบคทีเรียชนิดนี้สามารถผลิตเอนไซม์ lactase เพื่อไปสลายน้ำตาล lactose ให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ซึ่งช่วยให้คนที่มีภาวะแพ้ lactose สามารถย่อยอาหารที่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์นม และลดอาการแพ้ลงได้
• ช่วยลดอาการท้องเสีย ซึ่งเกิดจากการทานยาปฏิชีวนะ
• ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียชนิดไม่ดีในลำไส้
• ช่วยควบคุมการอักเสบของผนังลำไส้

โพรไบโอติกไม่เพียงแต่ทำให้สุขภาพของเราดีขึ้นหรือควบคุมการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยรักษาโรคได้จริงอีกด้วย (อ้างอิง) และโพรไบโอติกยังมีประโยชน์ต่อระบบต่างๆในร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบทางเดินหายใจ ดูแลสมดุลผิว จุดซ่อนเร้น ดูแลสมอง ลดความเครียด และดูแลตับด้วยนะ  ดังนั้น การรับประทานอาหารเสริมโพรไบโอติกจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลร่างกาย แต่ต้องเลือกอาหารเสริมโพรไบโอติกให้ตรงกับความต้องการและตอบโจทย์ความต้องการของคุณๆให้มากที่สุด

สรุป

โพรไบโอติก เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ควรเลือกตัวที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อรับประทานเข้าไปในร่างกายแล้วช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่แต่เดิมในลำไส้ ทำให้แบคทีเรียที่ดีมีจำนวนมากขึ้น และแบคทีเรียที่ไม่ดีจำนวนลดลง ทำให้สุขภาพของลำไส้ดีขึ้น โดยรวมคือ โพรไบโอติกจะช่วยให้สุขภาพของคุณๆ ดีขึ้น และแต่ละประเภท แต่ละสายพันธ์ก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นคุณๆควรสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของตัวเองนะ ว่าตัวไหนที่เหมาะกับเรา ตอบโจทย์กับสุขภาพเราจริงๆ

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้  ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views

2367

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “