เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views 1964

2024-06-05 18:00

(กูรูเช็ค)รวมข้อมูลจุลินทรีย์ดี โพรไบโอติก ที่คนทำแบรนด์อาหารเสริมต้องรู้

บทความนี้ กูรูเช็คได้รวบรวมข้อมูลของโพรไบโอติกสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงคุณๆ ที่สนใจ ความรู้พื้นฐานของโพรไบโอติก ประเภทของโพรไบโอติก ประโยชน์ต่อร่างกายและระบบต่างๆ ภายในร่างกาย คุณสมบัติของอาหารเสริมโพรไบโอติก รูปแบบโพรไบโอติกในอาหารเสริมแบบไหนดีที่สุด รวมฟอร์มที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาหารเสริมโพรไบโอติก ข้อมูลเกี่ยวกับโพรไบโอติกที่ อย. ไทยอนุญาต รวมถึงอัปเดตกลยุทธการตลาดอาหารเสริมโพรไบโอติก  และรวมโรงงานรับผลิตโพรไบโอติก ที่ได้รับมาตรฐานระดับสากลมาให้ กูรูเช็คหวังว่าข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมาจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ และผู้สนใจธุรกิจอาหารเสริมโพรไบโอติกนะคะ

• โพรไบโอติก คืออะไร

โพรไบโอติก (PROBIOTICS) คือ จุลินทรีย์ขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มจุลินทรีย์ดีที่อาศัยอยู่ในร่างกายของเรา ช่วยในการดูแลระบบทางเดินอาหารให้เป็นปกติ ช่วยย่อย และสังเคราะห์วิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมถึงคอยป้องกันร่างกายจากจุลินทรีย์ชนิดก่อโรค ปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง เป็นแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติทนต่อกรด สามารถจับที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อก่อโรคชนิดอื่นๆ  อ่านข้อมูลเพิ่มเติม โพรไบโอติก คืออะไร คลิก!

เชื่อว่าสมัยนี้ คุณๆต้องเคยได้ยินคำว่า “โพรไบโอติก” และ “พรีไบโอติก”มาพร้อมๆ กันจนบางครั้งก็อาจสับสนไปว่า โพรไบโอติกและพรีไบโอติกคือตัวเดียวกัน มีประโยชน์เหมือนกัน ก็เลยทานเหมือนกันแต่ความจริงไม่ใช่นะคุณๆ เพราะถึงแม้ปกติโพรไบโอติกและพรีไบโอติก ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของลำไส้ ให้ทำงานได้อย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ แต่ความจริงคือสองตัวนี้แตกต่างกันนะ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม พรีไบโอติก & โพรไบโอติก ต่างกันยังไง? คลิ๊ก!

• ประเภทของโพรไบโอติก (PROBIOTICS)

จุลินทรีย์โพรไบโอติกในร่างกายของเรามีอยู่หลากหลายประเภท ล้วนส่งผลดีต่อร่างกายแตกต่างกันไป ประเภทของโพรไบโอติก มีดังนี้
 1. แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus)
แลคโตบาซิลลัส พบมากที่สุดในกลุ่มโพรไบโอติก กลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่เกาะติดลำไส้ มีประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมได้ อาหารที่พบแลคโตบาซิลลัส เช่น อาหารหมักดอง โยเกิร์ต นมเปรี้ยว
 
2. แซคคาโรไมซิส (Saccharomyces Boulardii)
แซคคาโรไมซิส เป็นยีสต์ที่พบได้ในกลุ่มโพรไบโอติก ไม่มีอยู่ในร่างกายของมนุษย์ตามธรรมชาติ แซคคาโรไมซิสช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และบรรเทาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านทางเดินอาหาร
 
3. บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)
บิฟิโดแบคทีเรียม เป็นหนึ่งในจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่เรียกกันได้ว่าดีที่สุด เพราะช่วยบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน จากงานวิจัยพบว่าโพรไบโอติกชนิดนี้ช่วยผลิตสารตั้งต้นของภูมิต้านทานในร่างกายได้ บิฟิโดแบคทีเรียมพบได้ในอาหารประเภทนม

 4. จุลินทรีย์โพรไบโอติกประเภทอื่นๆ ที่ใช้ทางด้านการแพทย์ เช่น 
• Lactobacillus spp. – L. reuteri, L. Casei, L. Acidophilus, L. Bulgaricus, L.brevis, L. Rhamnosus
• Saccharomyces boulardii 
• Enterogermina – Bacillus clausii, Bacillus subtilis
• Bifidobacterium spp. – B. Bifidum, B. Longum, B. Breve, B.infantis
• Streptococcus thermophilus

โพรไบโอติกไม่ใช่ทุกสายพันธุ์จะให้ผลการรักษาเหมือนกันนะคุณๆ เพราะในแต่ละคนล้วนมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีมาแต่เกิด หรือ MICROBIOME ที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าจุลินทรีย์โพรไบโอติกในร่างกายของเราไม่ได้มีเพียงชนิดเดียว แต่มีอยู่หลากหลายประเภท ซึ่งล้วนส่งผลดีต่อร่างกายแตกต่างกันไป นอกจากนี้โพรไบโอติกยังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่แบ่งออกมาจากแต่ละประเภทที่มีจุดเด่น และประโยชน์ที่แตกต่างกันไป อ่านข้อมูลเพิ่มเติม โพรไบโอติก แต่ละสายพันธุ์ ประโยชน์ต่างกันยังไง เลือกตัวไหนดี คลิ๊ก!

• ประโยชน์ของโพรไบโอติก ต่อระบบในร่างกาย

โพรไบโอติกมักถูกเรียกว่า "แบคทีเรียดี" ที่ผู้ประกอบการหันมาสนใจทำผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น เพราะช่วยให้ลำไส้แข็งแรง เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร และระบบอื่นๆ ของร่างกายที่ให้ประโยชน์ ดังนี้

• โพรไบโอติกกับระบบทางเดินอาหาร

โพรไบโอติกช่วยป้องกันการติดเชื้อที่บริเวณทางเดินอาหาร โรคและความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร กลไกหลักในการป้องกันการเกิดโรคและการอักเสบที่ทางเดินอาหารคือการทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่บริเวณทางเดินอาหาร การอาศัยอยู่ของโพรไบโอติกที่บริเวณเยื่อเมือกผนังลําไส้จึงสามารถต้านการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคได้โดยตรง การควบคุมสมดุลปริมาณจุลินทรีย์ที่ทางเดินอาหารจะส่งผลต่อสุขภาพของเรา (อ้างอิง)  
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม โพรไบโอติก กับระบบทางเดินอาหาร และลำไส้ดีอย่างไร ช่วยอะไรบ้าง คล๊ก!

• โพรไบโอติกกับระบบภูมิคุ้มกัน

โพรไบโอติกช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยการกระตุ้นการตอบสนองและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเซลล์เดนไดรต์ ส่งผลให้มีการสร้างไซโตไคน์ และกระตุ้นการทำงนของ T cell โดยไซโตไคน์จะไปกระตุ้นการสร้างสารสื่อที่มีบทบาทในการรักษาคุณสมบัติของเนื้อเยื่อ นเพื่อปรับปรุงการตอบสนอง และการทำงานของเม้ดเลือดขาว เพื่อให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันสมดุล (อ้างอิง)
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม โพรไบโอติก เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สุขภาพดี ได้จริงมั๊ย คลิ๊ก!

• โพรไบโอติกกับระบบผิวหนัง

การใช้โพรไบโอติกในสกินแคร์จะช่วยให้สมดุลจุลินทรีย์บนผิวดีขึ้น SKIN BARRIER ก็ทำงานได้ดีขึ้น ลดการสูญเสียของน้ำในผิว ลดการอักเสบ ชะลอความแก่ชราของผิว โพรไบโอติกสามารถลดรอยย่นของผิวหนัง และสภาวะอื่นที่ส่งผลเสียต่อผิว นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวอีกด้วย (อ้างอิง) นอกจากนี้คุณๆอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับโพรไบโอติกช่วยรักษาสิวได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือมั่วในเรื่องการรักษาสิว  แต่เค้าก็มีหลักฐานข้อมูลรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับโพรไบโอติกรักษาสิว ยืนยันไว้หลายงานวิจัยเลยนะ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม โพรไบโอติก ในสกินแคร์ดียังไง ช่วยให้ผิวสมดุล จริงหรอ? คลิ๊ก! 

• โพรไบโอติกกับระบบประสาทและสมอง

โพรไบโอติกสามารถช่วยเพิ่มอารมณ์และการทำงานของสมองให้สมดุลได้ เนื่องจากสามารถผลิตสารสื่อประสาทหลายชนิดเช่นเดียวกันกับสมองเช่น เซโรโทนิน โดพามีน และกรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก มีบทบาทสำคัญในการควบคุมอารมณ์ โดยเซโรโทนินถูกสร้างขึ้นในทางเดินอาหาร แล้วส่งผลต่อลำไส้มักจะส่งผลต่อสมองด้วย เมื่อสมองรู้สึกถึงปัญหาสมองจะส่งสัญญาณเตือนไปยังลำไส้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ในเหตุการณ์ที่มีความตึงเครียดอาจทำให้เกิดปัญหาการย่อยอาหาร หรืออาการท้องผูกเรื้อรังอาจกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล โรคอ้วนและภาวะซึมเศร้าได้  (อ้างอิง)
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม โพรไบโอติก ลดความเครียด อาการนอนไม่หลับ ได้จริงหรอ? คลิ๊ก! 

• โพรไบโอติกกับระบบทางเดินปัสสาวะ และดูแลจุดซ่อนเร้น

เนื่องจากในช่องคลอดมีโพรไบโอติกเป็นแบคทีเรียเจ้าถิ่นไว้คอยรักษาสมดุลระบบภายใน คอยจัดการกับแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค หากแบคทีเรียชนิดดี ภายในช่องคลอดลดน้อยลงและอ่อนแอกว่าแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค ทำให้ไม่สามารถจัดการกับเชื้อแบคทีเรียตัวร้ายได้ จึงส่งผลให้ระบบภายในช่องคลอดเกิดการอักเสบได้ง่าย ดังนั้นจึงมีโพรไบโอติกที่ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการอักเสบในช่องคลอดได้ โดยทำการทดสอบจากการเพาะเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลให้ช่องคลอดอักเสบ และสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียจากการฟักตัวและเจริญเติบโตได้ (อ้างอิง)
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม โพรไบโอติกดูแลจุดซ่อนเร้น ลดการติดเชื้อ ช่วยได้จริงหรือการตลาด คลิ๊ก!

• โพรไบโอติกกับระบบการทำงานของตับ

โพรไบโอติก เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการเกิด NAFLD และภาวะตับอักเสบ (Non-alcoholic steatohepatitis, NASH) เพราะถ้าจุลินทรีย์ในลําไส้ที่เสียสมดุลไปทําให้เกิด การรั่วของผนังลําไส้(gut leakiness) ส่งผลให้แบคทีเรียในลําไส้เล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือด และเกิด ภาวะ metabolic endotoxemia ตามมาด้วยการอักเสบที่ตับ จึงใช้โพรไบโอติกปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลําไส้ลดไขมันพอกตับด้วย (อ้างอิง) อ่านข้อมูลเพิ่มเติม โพรไบโอติก สามารถลดการอักเสบ และลดการเกิดภาวะไขมันที่ตับได้! คลิ๊ก!

• การเลือกโพรไบโอติก ในท้องตลาดที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจ

ในการผลิตผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ทั้งทางด้านกายภาพและทางประสาทสัมผัสที่ดี และมีปริมาณเชื้อโพรไบโอติกที่มีชีวิตอยู่ในผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นการผลิตจึงมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นความปลอดภัยของสายพันธุ์ที่เลือกใช้ ปริมาณเชื้อเริ่มต้นที่เติมลงไป สภาวะที่ใช้บ่ม ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างชนิดของเชื้อในกรณีใช้เชื้อผสม รวมถึงการเหลือรอดชีวิตในผลิตภัณฑ์ในช่วงระหว่างการเก็บรักษา ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตผลิตภภัณฑ์โพรไบโอติกที่ผู้ประกอบการควรให้ควรสำคัญ เพราะผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์โพรโอติกจากข้อมูล ดังนี้

1. เลือกจากวิธีรับประทาน เช่น แบบผงแป้ง เม็ดแคปซูล หรือเจลลี่ ผู้ประกอบการต้องเลือกรูปแบบที่โพรไบโอติกอยู่รอด และให้ประสิทธิภาพมากที่สุด
2. เลือกตัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เราต้องการมาเป็นส่วนประกอบ เช่น แล็กโทบาซิลลัส เหมาะสำหรับกระตุ้นระบบขับถ่าย ส่วนบิฟิโดแบคทีเรีย เหมาะสำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ผู้ประกอบการต้องเลือกสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ประโยชน์ครบ
3. เลือกจากปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ โดยปริมาณเชื้อแบคทีเรียต่อซองไม่ควรต่ำกว่า 1,000 ล้าน CFU (Colony Forming Unit) โดยเฉพาะเชื้อกลุ่มที่ไม่มีเกราะหุ้มที่จะตายจากกรดในกระเพาะอาหารก่อนถึงลำไส้ เช่น แล็กโทบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรีย จึงต้องรับประทานในปริมาณสูงต่อวัน 
4. ตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีการเสริมใยอาหาร เช่น พรีไบโอติกหรืออาหารของแบคทีเรียโพรไบโอติกรวมอยู่ด้วยเสมอ ผู้ประกอบการควรเลือกเติมพรีไบโอติกเพื่อช่วยให้โพรไบโอติกในผลิตภัณฑ์ทำงานได้ดีขึ้น
5. ข้อมูลบนกล่องของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
- ควรมีฉลากหลังกล่องว่ามีเลข อย. เพื่อความปลอดภัย 
- มีการระบุชื่อสายพันธุ์โพรไบโอติกหรือไม่ เพื่อกันการแอบอ้างหรือโดนหลอก
- ระบุวิธีการใช้และวิธีเก็บรักษา ต้องเก็บในสถานที่ที่เหมาะสม ไม่ทำให้โพรไบติกเสื่อมสภาพขณะเก็บ
- ตรวจสอบวันหมดอายุได้ และบรรจุภัณฑ์ไม่มีรอยฉีกขาดหรือรอยรั่วเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ทริคเลือกอาหารเสริมโพรไบโอติก ในท้องตลาด ปลอดภัย แบบไหนดี คลิ๊ก!

• ลักษณะของโพรไบโอติกที่ดี ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้

- ต้องมีความปลอดภัย
- ทนทานต่อความเป็นกรด-ด่างในระบบทางเดินอาหาร
- สามารถยึดเกาะและเพิ่มจำนวนได้ในระบบทางเดินอาหาร
- สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคได้
- มีความคงตัวและมีชีวิตอยู่รอดได้ภายใต้กระบวนการผลิต
- มีความคงตัวและมีชีวิตอยู่รอดได้ภายใต้กระบวนการเก็บรักษา

• ข้อกำหนดโดย อย. ของโพรไบโอติกที่ใช้ในอาหาร

ข้อกำหนดของโพรไบโอติกที่รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนว่ามีปริมาณโพรไบโอติกที่ยังมีชีวิตอยู่คงเหลืออยู่ต้องไม่น้อยกว่า 106 CFU ต่ออาหาร 1 กรัม ตลอดอายุการเก็บรักษาของอาหารนั้น กรณีที่มีการใช้โพรไบโอติกมากกว่าหนึ่งชนิด ต้องมีปริมาณคงเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 106 CFU ต่ออาหาร 1 กรัม ตลอดอายุการเก็บรักษาของอาหารนั้นด้วย ต้องใช้สายพันธุ์ของโพรไบโอติกตามรายชื่อในบัญชีประกาศของ อย. ผู้ประกอบการสามารถ อ่านข้อมูลเพิ่มเติม โพรไบโอติก ที่ อย. ไทย อนุญาตใช้พร้อมขั้นตอนการขอใช้โพรไบโอติกตัวใหม่ คลิ๊ก!

• รูปแบบโพรไบโอติก ในอาหารเสริม

ผู้ประกอบการควรศึกษารูปแบบของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก เพราะในปัจจุบันโพรไบโอติกที่เราพบเห็นกันได้ในท้องตลาดมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบผงแป้ง (POWDERS)ทั้งละลายน้ำ(SOLUTION DROPS) และกรอกปากกินได้เลย, รูปแบบแคปซูล (CAPSULES), รูปแบบยาเม็ดเคี้ยว (CHEWABLE TABLETS) รวมถึงแบบอื่นๆที่น่าสนใจอีกเยอะ ที่เจ้าของแบรนด์ต้องรู้และทำผลิตภัณฑ์ของโพรไบโอติกที่น่าสนใจ  เราต้องดูทั้งข้อดีและข้อเสียในแต่ละรูปแบบด้วย เพราะจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต้องมีความสามารถในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ต้องมีความสามารถในการเกาะที่เยื่อบุผนังลำไส้ และต้องทนต่อสภาวะในทางเดินอาหารและโพรไบโอติกต้องไปถึงลำไส้ได้จริง

• โรงงานผลิตอาหารเสริมโพรไบโอติก เทคโนโลยีทันสมัย

กูรูเช็ครวบรวมข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการอาหารเสริมโพรไบโอติก เพื่อเป็นตัวเลือกในการผลิตอาหารเสริมโพรไบโอติก ทั้งข้อมูลโรงงานผลิตโพรไบโอติกที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล นวัตกรรมใหม่ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย บริการครบวงจรพร้อมทั้งจุดเด่นของแต่ละโรงงาน รวมทั้งราคาการผลิต เรทจำนวนการผลิตขั้นต่ำ และช่องทางการติดต่อมาให้แล้ว  อ่านข้อมูลเพิ่มเติม 7 โรงงานผลิตอาหารเสริม โพรไบโอติก ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมบริการครบวงจร คลิ๊ก!

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สุขภาพเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีขึ้นโดยประมาณ 1 ใน 4 บอกว่ามีการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ 74% ได้ใช้วิธีนี้เพื่อแก้ปัญหาแล้วในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงสุขภาพทางเดินอาหารให้ดีขึ้น แต่จะมีเพียง 48% เท่านั้นที่เลือกใช้โพรไบโอติกเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพโดยเฉพาะ ปัจจุบันผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพรไบโอติกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ประสิทธิภาพ และคุณภาพ ทำให้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับความก้าวหน้าของโพรไบโอติก

สรุป 

โพรไบโอติก เป็นอาหารเสริมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะในยุคนี้คนหันมาสนใจดสุขภาพกันมากขึ้น ยิ่งผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกที่สามารถดูแลได้ร่างกายได้อย่างคลอบคลุม ดังนั้นตลาดโพรไบโอติก ถือว่ามาแรงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นนวัตกรรมอาหาร เป็นจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย เสริมประสิทธิภาพการย่อยอาหาร และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงระบบต่างๆในร่างกายที่ผู้ประกอบการ ควรให้ความสนใจ และศึกษาข้อมูลที่ถูกต้อง

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้  ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views

1964

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “