เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views 4459

2023-12-28 10:00

(กูรูเช็ค) เจ้าของแบรนด์ต้องรู้ อัพเดทปี 2024 รวมรูปแบบผลิตภัณฑ์ของโพรไบโอติกที่น่าสนใจ

เจ้าของแบรนด์ต้องรู้ อัพเดทปี 2024 รวมรูปแบบผลิตภัณฑ์(Dosage form)ของโพรไบโอติก(Probiotic)ที่น่าสนใจ

    เห็นได้ชัดเลยว่าลูกค้าในปัจจุบันนี้ตื่นเต้นที่จะได้ลองโปรดักส์รูปแบบใหม่ๆ ซึงส่งผลให้โปรดักส์นั้นติดอันดับขายดี และเกิดเป็นไวรัลมากมาย ปี 2024 นี้ รับรองว่ามีโพรไบโอติกหลากหลายรูปแบบให้คุณเลือกสรรได้ตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น  กูรูเช็คไปรวบรวมข้อมูลรูปแบบของโพไบโอติกที่มีขายทั่วโลกมาให้คุณๆ ได้ดู ไปดูซิว่ามีรูปแบบไหนที่น่าสนใจบ้างค่ะ

รวมโพรไบโอติกรูปแบบที่น่าสนใจ

1. โพรไบโอติกแบบลูกอม(lozenges)

    โพรไบโอติมาในรูปแบบเม็ดอม ส่วนใหญ่โพรไบโอติกในรูปแบบนี้จะเสริมสร้างสุขภาพปาก ฟัน และช่องคอที่ดี ช่วยลดกลิ่นปาก ปรับสมดุลจุลินทรีย์ในช่องปากและช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย แต่รูปแบบเม็ดอมแบบนี้อาจจะได้รับปริมาณของโพรไบโอติกน้อย

2.โพรไบโอติกแบบเจลลี่(Jelly)

    โพรไบโอติกแบบนี้อาจจะเหมาะเป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กๆ หรือผู้ใหญ่ ที่ไม่ค่อยชอบทานผักผลไม้ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต หรือไม่ชอบรูปแบบเม็ดยา เพราะรูปเจลลี่แบบนี้มีความสะดวก ไม่ต้องชงน้ำดื่มหรือดื่มน้ำตาม เป็นรูปแบบที่สามารถพกพาได้สะดวกและทานง่าย แต่ปริมาณของโพรไบโอติกอาจสูญเสียไปได้ง่ายเพราะรูปแบบนี้เจลลี่ต้องผ่านความร้อน

3.โพรไบโอติกแบบแผ่นฟิล์มแตกตัวในช่องปาก(Oral Disintegrating Films)

    แผ่นฟิล์มแตกตัวในช่องปาก (oral strip และ oral thin films) เป็นรูปแบบโพรไบโอติกที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ที่เตรียมจากพอลิเมอร์และออกแบบให้แตกตัวหรือละลายอย่างรวดเร็วบนลิ้นหรือช่องปาก เนื่องจากการแตกตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้การนำส่งโพรไบโอติกไม่อาศัยการเคี้ยวหรือการดื่มน้ำ แผ่นฟิล์มมีลักษณะบาง เพิ่มพื้นที่ผิวในการแตกตัวและการละลาย เหมาะกับจุลินทรีย์ที่ใช้ทางช่องปาก แต่ปริมาณจุลินทรีย์อาจน้อยกว่าแบบผง(อ้างอิง)

4. โพรไบโอติกแบบผง(Powder)

    เป็นโพรไบโอติกที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะปริมาณต่อโดสที่เยอะทำให้ได้รับจุลินทรีย์ในปริมาณที่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะคนที่ต้องการจุลินทรีย์สายพันธุ์ Lactobacillus และ Bifidobacterium เป็นหลัก เพราะเป็นสายพันธุ์ที่สามารถทนต่อความเป็นกรดในกระเพาะอาหารได้ดี ข้อควรระวังคือต้องนำจุลินทรีย์โพรไบโอติกแบบผงไปชงดื่มในน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องเท่านั้น เพื่อให้จุลินทรีย์ยังคงประสิทธิภาพเต็มที่ แต่ก็อาจมีบางชนิดที่สามารถกินได้เลยโดยไม่ต้องทำการละลายน้ำก่อน

5. โพรไบโอติกแบบแคปซูล(capsule)

    โพรไบโอติกในรูปแบบเม็ดแคปซูลทานง่าย เหมาะกับการบรรจุจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่ไม่ทนต่อความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร แต่อาจได้รับปริมาณจุลินทรีย์ที่น้อยกว่าแบบผง หากโพรไบโอติกแบบเม็ดนั้นมีขนาดบรรจุที่เล็กกว่า อาจจะต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมาห่อหุ้ม หรือทำให้โพรไบโอติกมีความทนต่อกรดและอุณหภูมิสูง โพรไบโอติกก็จะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น

6. โพรไบโอติกแบบไฮโรเจล(Hydrogel)

    โพรไบโอติกในรูปแบบไฮโดรเจล เป็นโพรไบโอติกที่ทำขึ้นมาเพื่อการรักษาแผลภายนอกโดยใช้โพรไบโอติกที่เหมาะสมช่วยในเรื่องการสมานแผลและด้วยคุณประโยชน์ต้านแบคทีเรียตัวร้าย นอกจากนั้นไฮโดรเจลจะยึดติดกับบริเวณแผลที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ความชุ่มชื้น ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เริ่มใช้โพรไบโอติกกับแผลภายนอกร่างกาย

7. โพรไบโอติกแบบ สเปรย์ฉีดพ่นจมูก(Nasal spray)

    โพรไบโอติกในรูปแบบฉีดพ่นจมูก เป็นโพรไบโอติกที่ส่วนใหญ่จะใช้สเปรย์ฉีดเข้าจมูกนี้เพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้ที่ตรงเป้าหมายหรือบรรเทาอาการอักเสบในโพรงจมูกโดยใช้คูณสมบัติของโพรไบโอติกเพื่อลดการอักเสบในบริเวณนั้นๆ นอกจากนั้นยังบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม ได้อีกด้วยโดยไม่ต้องพึ่งยาปฏิชีวนะ

8. โพรไบโอติกแบบยาเหน็บ(Suppository)

    โพรไบโอติกในรูปแบบยาเหน็บใช้งานเฉพาะที่ เป็นยาเหน็บช่องคลอดสำหรับผู้หญิง ที่มาพร้อมโพรไบโอติกและพรีไบโอติก จุลินทรีย์ในช่องคลอดมีบทบาทในการป้องกันโดยการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะช่องคลอดอักเสบ การติดเชื้อในช่องคลอด และการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เมื่อเติมโพรไบโอติกเข้าไปจะช่วยบรรเทาอาการแห้ง แดง คัน แสบร้อน และอาการไม่สบายทางช่องคลอดของผู้หญิง 

9. โพรไบโอติกแบบน้ำแข็ง(Probiotic ice cube)

    โพรไบโอติกรูปแบบน้ำแข็งก้อนหนัก 26 กรัม มี Bifidobacterium lactis ที่ปริมาณ 2.8 พันล้าน CFU เพื่อช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย โพรไบโอติกรูปแบบนี้สามารเก็บรักษาได้นานขึ้นถึง 6 เดือน เป็นนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University (NTU) ประเทศสิงคโปร์ 

10. โพรไบโอติกแบบ Microneedle

    โพรไบโอติกในรูปแบบนี้ยังไม่มีวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แต่อยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนา ซึ่งทางกูรูเช็คเห็นว่าเป็นนวัตกรรมใหม่และพัฒนาได้อีก โดยเบื้องต้นมีการทดลองในสัตว์ทดลองแล้วโดยการส่งผ่านโพรไบโอติกผ่านทางผิวหนังโดยใช้ microneedle(อ้างอิง) และการพัฒนาไมโครแคปซูลหลายชั้นที่บรรจุโพรไบโอติกรวมอยู่ใน microneedle ที่ละลายได้ เพื่อการพัฒนาศักยภาพการรักษาเชื้อราในช่องคลอด(อ้างอิง)

    จะเห็นได้ว่า มีอาหารเสริมโพรไบโอติกหลากหลายรูปแบบให้เลือกตามความต้องการ ซึ่งแบบไหนจะดีที่สุดนั้น ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์โพรไบโอติกที่ต้องการได้รับ และปริมาณโพรไบโอติกที่ต้องการ โดยจำนวนโพรไบโอติกมีชีวิตที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันนั้น อยู่ที่ 100-1,000 ล้านตัว ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ จึงมักทำมาในปริมาณที่มากกว่านั้นหลายเท่า หรือมีการใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อส่งจุลินทรีย์ให้มีชีวิตรอดไปถึงลำไส้ในปริมาณที่เหมาะสม 

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความ   ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views

4459

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “