เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views 4938

2024-01-04 10:30

(กูรูเช็ค) อัปเดตสารสำคัญในวิตามินกันแดด ปี 2024 สารไหนมาแรง?

วิตามินกันแดด แค่กินก็กันแดดได้จริงหรือ?

    สิ่งสำคัญประการแรกที่ผู้ประกอบการด้านวิตามินอาหารเสริมควรรู้คือ สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ของวิตามินที่เราจะเป็นผู้ผลิตว่าสารนั้นสามารถออกฤทธิ์ผ่านกลไกใดได้บ้าง โดยมีข้อมูลอ้างอิงด้านงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เช่นเดียวกันกับวิตามินกันแดดที่เป็นอาหารเสริมสำหรับผิวที่ปกป้องตั้งแต่ภายในร่างกายนอกเหนือจากการทาครีมกันแดด กูรูเช็คเลยอยากให้ผู้ประกอบการทุกท่านที่สนใจจะผลิตวิตามินกันแดดตัวนี้ได้รู้จักสารออกฤทธิ์ที่สำคัญของวิตามินกลุ่มนี้กันค่ะ

    วิตามินกันแดดก็เหมือนกับวิตามินหรืออาหารเสริมทั่วไป แต่มีคุณสมบัติที่เน้นช่วยเรื่องเสริมการปกป้องผิวหรือบำรุงผิวที่ถูกทำร้ายด้วยแสงแดด วิตามินกันแดดหลายคนมองว่ากินง่ายและไม่ต้องเสียเวลามากมาย และมีหลายแบรนด์ให้เลือกซื้อ แต่ทั้งนี้ก็มีหลายคนเกิดการตั้งคำถามว่า แค่กินก็ช่วยกันแดดได้จริงหรือ? เพราะเป็นการกินเข้าสู่ร่างกาย ไม่ใช่การปกป้องผิวจากภายนอก กูรูเช็คเลยไปรวบรวมข้อมูลของวิตามินกันแดดพร้อมข้อมูลหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงมาให้คุณๆ ได้อ่านก่อนตัดสินใจเลือกวิตามินกันแดดมาใช้กันค่ะ

สารที่อยู่ในวิตามินกันแดด

    วิตามินกันแดดเป็นอาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเรื่องต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระในชั้นผิว เพราะถ้าหากได้รับแสงแดดในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยรังสี UV-B จะแทรกผ่านผิวหนังชั้นบน(epidermis) ทำให้เกิดการจัดเรียงตัวใหม่ของโมเลกุล DNA ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ผิวหนัง หากรับรังสี UVB ระยะเวลานานๆ ต่อเนื่องก็อาจส่งผลให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ นอกจากนี้รังสี UVB ยังกระตุ้นเซลล์เคราติโนไซต์(keratinocyte) ที่อยู่บริเวณผิวหนังชั้นบน ให้หลั่งไซโตไคน์(cytokine) ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบไหม้ร้อนแดง(sunburn) ที่ผิวหนังและกระตุ้นเซลล์เมลาโนไซต์(melanocyte) ให้สร้างเม็ดสีเมลานินเพิ่มขึ้น สีผิวจึงหมองคล้ำ ส่วนรังสี UVA ซึ่งมีความยาวคลื่นมากสุด สามารถแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ลึกถึงชั้นหนังแท้(dermis) และกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ เซลล์ผิวหนังจะถูกทำลายด้วยอนุมูลอิสระเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดริ้วรอยความชราของผิว 

    ซึ่งวิตามินกันแดดมักจะมีสารที่ออกฤทธิ์ในแง่ของการปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระและฟื้นฟูผิวจากอาการอักเสบไหม้ร้อนแดงหลังจากได้รับแสงแดดนั้น คือ 

• Polypodium Leucotomos Extract (PLE) เป็นสารสกัดจากเฟิร์นชนิดหนึ่งที่พบในอเมริกากลาง และมีการจดลิขสิทธิ์นวัตกรรม

• Fernblock ® เทคโนโลยี ที่มีการใช้ในทั้งรูปแบบครีมกันแดดและรูปแบบวิตามิน ในการรักษาโรคผิวหนังที่ไวต่อแสงแดด ภาวะการอักเสบที่รุนแรงจากแสงและความผิดปกติของเม็ดสีผิว(อ้างอิง

• Niacinamide หรือวิตามิน บี3 ที่จะช่วยฟื้นฟูและบำรุงผิว ให้ผิวกลับมามีความชุ่มชื่น ลดการสร้างเม็ดสีผิวและลดการเคลื่อนย้ายถุงเม็ดสี(melanosome) ขึ้นมายังผิวชั้นหนังบน(อ้างอิง

• Carotenoids เป็นกลุ่มสารสกัดจากธรรมชาติที่ช่วยบำรุงผิว ปกป้องผิวจากการโดนทำร้ายด้วยแสงแดด ลดอาการผดผื่นแดงและลดความไวต่อแสงของผิวหลังได้รับแสงแดด(อ้างอิง

• สารที่มีฤทธิ์ Antioxidants ต่างๆ เช่น วิตามิน อี, วิตามิน ซี เพราะกลไกต่อต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้จะช่วยยับยั้งการอักเสบและความชราของผิวที่โดนทำร้ายจากแสงแดด(อ้างอิง

กลไกการป้องกันอันตรายจากแสงแดด

Polypodium Leucotomos Extract หรือ PLE สารสกัดจากเฟริ์นที่มีกลไกการป้องกันอันตรายจากแสงแดด (photoprotection)

    เทคโนโลยีนี้เป็นการสกัดสารจากเฟริ์นแล้วได้สารสำคัญคือ Polypodium Leucotomos Extract หรือ PLE ซึ่งเป็น hydrophilic natural extract มีงานวิจัยเกี่ยวกับสารตัวนี้มากมายทั้งในแง่ความปลอดภัยด้าน photobiology ต่อผิวหนัง เนื่องจากคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระต่อปฏิกิริยาที่เกิดจากรังสี UV ป้องกันความเสียหายของ DNA และการป้องกันการตายของเซลล์หลังได้รับรังสี UV ที่สำคัญคือทำหน้าที่เป็น immunomodulator ที่ช่วยเพิ่มการตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อ้างอิง) เพิ่มค่า Minimal Erythema Dose (MED) 3 เท่า ซึ่งค่า MED เป็นปริมาณแสงที่น้อยที่สุดที่ทำให้ผิวหนังแดง ทำให้ผิวไม่ไวต่อแสง

แคโรทีนอยด์ที่ไม่มีสี (Colorless Carotenoids) กับฤทธิ์ในการดูดซับรังสี UV คล้ายกับครีมกันแดด

    พืชมีกลไกในการสังเคราะห์แสงที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างอาหารให้ตัวมันเอง นอกจากนั้นพืชยังปกป้องตนเองจากอันตรายจากการสัมผัสรังสี UV ซึ่งกลไกทางเคมีที่สำคัญที่พืชป้องกันตัวเองจากแสงคือการสร้างแคโรทีนอยด์ แคโรทีนอยด์เป็นรงควัตถุ (pigment) สีเหลือง ส้ม แดง และส้ม-แดง พบทั่วไปในพืช ทำงานร่วมกับคลอโรฟิลส์ (chlorophyll) ซึ่งเป็นรงควัตถุที่มีสีเขียว ทำหน้าที่ดูดซับพลังงานจากแสงแดด เพื่อการสังเคราะห์แสงและช่วยการเจริญเติบโตของพืช และป้องกันอันตรายจากแสง (photoprotective agents) (อ้างอิง) นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วย

    แม้ว่าแคโรทีนอยด์ส่วนใหญ่จะมีสีเข้ม แต่ก็มีบางชนิดที่ไม่มีสีและดูดซับได้แสงในช่วง UVA/UVB ทำให้เป็นตัวเลือกสำหรับสูตรครีมกันแดด นั่นคือ ไฟโตอีน (phytoene) และไฟโตฟลูอีน (phytofluene) ที่สามารถพบได้ในมะเขือเทศ แครอท แตงโม แอปริคอต เป็นต้น ไฟโตอีนและไฟโตฟลูอีนเป็นผลิตภัณฑ์ในระยะเริ่มต้นของการสังเคราะห์แคโรทีนอยด์เกิดจากการรวมของโมเลกุล geranyl-geranyl diphosphate (GGDP) สองโมเลกุล เนื่องจากการผลิตไฟโตอีนเป็นก้าวแรกของการสังเคราะห์แคโรทีนอยด์ขั้นตอนนี้จึงถือว่าเป็นขั้นกำหนดปฏิกิริยาว่าจะเกิดการสังเคราะห์แคโรทีนอยด์ช้าหรือเร็ว

    การดูดกลืนรังสี UVA/UVB ของสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่ไม่มีสี (ไฟโตอีนและไฟโตฟลูอีน) เมื่อดูค่าสัมประสิทธิ์การดูดกลืนแสง (Molar extinction coefficient) พบว่าทั้งไฟโตอีนและไฟโตฟลูอีนมีค่าการดูดกลืนแสงในช่วงรังสี UVA/UVB ได้ดีกว่า Oxybenzone ที่มีฤทธิ์ในการดูดกลืนรังสี UV นิยมใช้ในครีมกันแดด(อ้างอิง) ดังนั้นเราจึงสามารถกล่าวได้อีกแง่หนึ่งว่าสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ โดยเฉพาะที่เป็นไฟโตอีนและไฟโตฟลูอีนมีคุณสมบัติในการดูดซับรังสี UV ได้เป็นอย่างดี และช่วยในการปกป้องผิวจากแสงแดด จึงอาจเป็นส่วนผสมในวิตามินกันแดดได้

    นอกจากนี้ยังเคยมีรายว่ากลุ่มทดสอบที่ได้รับอาหารเสริม β-Carotene และ lycopene 24 mg/วัน ระยะเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าเกิดผื่นแดงเด่นชัดจากการได้รับแดดน้อยลง และมีค่า MED เพิ่มขึ้น นั่นคือผิวมีความทนต่อความเข้มแสงได้มากขึ้นนั่นเอง(อ้างอิง)

ข้อดีของวิตามินกันแดด

    หากกินวิตามินกันแดดจะช่วยลดความรุงแรงและผลกระทบของรังสี UV แต่ไม่ได้มีคุณสมบัติช่วยป้องกันแดดเหมือนกับครีมกันแดดที่ใช้กัน ยกเว้นหากวิตามินนั้นมีส่วนผสมของ PLE, ไฟโตอีนและไฟโตฟลูอีนอาจจะช่วยดูดซับรังสี UV ได้ แต่ทั้งนี้สามารถกินวิตามินกันแดดเพื่อช่วยฟื้นฟูผิวที่อาจได้รับผลกระทบจากแสงแดดในแต่ละวันได้ เช่น การเกิดผื่นแดงหลังโดนแดด หรือความทนต่อความเข้มแสงได้มากขึ้น ซึ่งเป็นฤทธิ์จากสารกลุ่มแคโรทีนอยด์

    ในกรณีของคนที่เพิ่งผ่านการทำเลเซอร์ หรือเพิ่งผ่านการทำหัตถการต่าง ๆ ต้องงดเว้นการทาครีมกันแดดบนใบหน้า การกินวิตามินกันแดดเพื่อลดความอักเสบของผิว หรือลดผลกระทบจากแสง UV ไม่ว่าจะเป็นผิวไหม้ ผิวเป็นผดผื่นแดงหลังโดนแดด ผิวระคายเคือง ก็เป็นทางเลือกที่ดีในระหว่างที่ผิวยังบอบบางอยู่

กินวิตามินกันแดดแล้วต้องทาครีมกันแดดอีกมั้ย ?

    มาถึงตรงนี้หลายคนคงเข้าใจแล้วว่า วิตามินกันแดดที่มีขายกันอยู่ตามท้องตลาดอาจจะไม่สามารถทดแทนครีมกันแดดที่ปกป้องผิวจากภายนอกได้ แต่การกินวิตามินกันแดดแล้วก็ยังจำเป็นต้องใช้กันแดดแบบทาผิวอยู่ดี เพราะทั้งสองผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติที่ต่างกัน แต่การใช้ควบคู่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดูแลผิวได้อย่างครอบคลุมนั่นเอง เพราะวิตามินกันแดดต้องใช้ระยะเวลา 7-10 สัปดาห์จึงจะเห็นผลป้องกันการเกิดผดผื่นแดงหลังจากได้รับแสงแดดและทนต่อความเข้มแสงได้มากขึ้น แต่ครีมกันแดดสามารถทาเพื่อใช้ปกป้องผิวจากแสงแดดได้ทันที

สรุป

    วิตามินกันแดดที่อ้างสรรพคุณกันแดดได้อาจจะเพราะมีส่วนผสมของสารกลุ่มแคโรทีนอยด์หรือ PLE ซึ่งมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูผิวหลังได้รับแสงแดดและให้ผิวทนต่อความเข้มแสงได้มากขึ้น ต้านอนุมูลอิสระที่เกิดจากแสงแดด แต่ไม่ได้มีส่วนช่วยป้องกันแสงหรือดูดซับรังสี UV เหมือนคุณสมบัติของครีมกันแดด แต่ถ้าหากวิตามินกันแดดนั้นมีส่วนผสมของ PLE  หรือไฟโตอีนและไฟโตฟลูอีนก็อาจจะมีคุณสมบัติช่วยดูดซับแสงแดดได้ ยังไงก็ตามก็ควรปกป้องผิวจากการทำร้ายโดยแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดร่วมกับการกินวิตามินกันแดดก็จะดีที่สุดค่ะ

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความ ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views

4938

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “