เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views 4450

2023-12-18 16:30

(กูรูเช็ค) เจาะลึกคอลลาเจนบำรุงผิว เลือกยังไงให้ล็อคที่ผิว

คอลลาเจนไม่ใช่แค่ บำรุงผิว แต่ช่วยได้บำรุงทั้งกระดูก สมอง และอวัยวะอื่นๆ(กรดอะมิโน) เจาะลึกคอลลาเจนตั้งแต่กระบวนการสร้าง ประเภทของคอลลาเจน วิตามินที่เสริมการสร้างคอลลาเจน และเทคนิคการเลือกคอลลาเจนให้ target ไปที่ผิว

คอลลาเจน(Collagen) คืออะไร?

    คอลลาเจน คือโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้น ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของผิวพบในผิวหนังชั้นหนังแท้( dermis) กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น รวมถึงเนื้อเยื่อเกี่ยวพันส่วนอื่น ๆ คอลลาเจนถือว่าเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีมากที่สุดในร่างกาย โดยมีสัดส่วนถึง 30% ของจำนวนโปรตีนในร่างกายทั้งหมด     คอลลาเจนมีลักษณะเป็นเส้นใยเมื่ออยู่ในรูปของคอลลาเจนไฟเบอร์ (collagen fibers) จะทำให้เซลล์ต่างๆ คงรูปร่างได้ คอลลาเจนเกิดจากสายพอลิเพปไทด์ 3 สายพันกันเป็นเกลียวมีโครงสร้างที่เรียกว่า triple helix โดยภายในสายพอลิเพปไทด์แต่ละสายเกิดจากการรวมกันของกรดอะมิโนโครงสร้าง (G-X-Y)n โดย G คือ ไกลซีน (Glycine) ส่วน X มักจะคือโพรลีน (Proline) และ Y มักจะคือไฮดรอกซีโพรลีน (hydroxyproline ; Hyp) ซึ่งเป็นโครงสร้างคอลลาเจนที่มักจะพบที่ผิวค่ะ 
    อัตราการสังเคราะห์คอลลาเจนใต้ผิวหนังในชั้นหนังแท้จะลดลงถึง 1.5% ต่อปี ซึ่งจะนำไปสู่การหย่อนคล้อยของผิว จนเกิดริ้วรอย และจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเราสามารถเสริมคอลลาเจนให้กับร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น โดยการกินอาหารที่มีคอลลาเจนเข้าไปหรือกินอาหารเสริมคอลลาเจนได้(อ้างอิง)

คอลลาเจน 5 ชนิดที่สามารถพบได้มากสุดในร่างกาย

    คอลลาเจนที่พบในปัจจุบันมีมากกว่า 28 ชนิด ความแตกต่างของคอลลาเจนแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางเคมีของโมเลกุล และสัดส่วนที่ร่างกายนำไปใช้ แต่คอลลาเจนในร่างกายที่พบมากที่สุด 5 ชนิด คือ

    1. คอลลาเจนประเภทที่ 1 (Collagen Type I) ซึ่งพบมากถึง 90% ของคอลลาเจนทั้งหมดในร่างกาย ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อฉีกขาด มีความเหนียวและแข็งแรงมากที่สุด เป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างกระดูก ผนังหลอดเลือด ผิวพรรณ เส้นเอ็นและเอ็นยึดกล้ามเนื้อ ผิวหนัง กระจกตา และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน 
    2. คอลลาเจนประเภทที่ 2 (Collagen Type II) พบมากในกระดูกอ่อน เช่น ส่วนประกอบของหู จมูก หลอดลม และกระดูกซี่โครง เป็นชนิดที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าคอลลาเจน type I และทำหน้าที่ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอบริเวณข้อต่อได้ โดยปกติแล้วในกระดูกอ่อนจะประกอบด้วยเส้นใยคอลลาเจนประเภทที่ 2 รวมตัวกับกรดไฮยาลูโรนิค (Hyaluronic acid) และโปรตีโอไกลแคน (Proteoglycan)
    3. คอลลาเจนประเภทที่ 3 (Collagen Type III) มักพบร่วมกับคอลลาเจนประเภทที่ 1 โดยส่วนใหญ่มักพบในผนังหลอดเลือด แต่พบได้น้อยในข้อต่อต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างจากคอลลาเจนประเภทที่ 2
    4. คอลลาเจนประเภทที่ 4 (Collagen Type IV) เป็นคอลลาเจนที่มีลักษณะเฉพาะตัว พบมากบริเวณเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มกล้ามเนื้อและไขมันนอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในเรื่องการทำงานของระบบประสาทและเส้นเลือดอีกด้วย
    5. คอลลาเจนประเภทที่ 5 (Collagen Type V) เป็นคอลลาเจนที่เป็นองค์ประกอบของเยื่อบุเซลล์ต่าง ๆ พบในผิวของเซลล์ เส้นผม และในเนื้อเยื่อของทารกในระหว่างตั้งครรภ์

ขนาดของคอลลาเจน มีผลต่อการดูดซึม

วัตถุดิบคอลลาเจนที่เราพบเจอทั่วไป มี 3 ขนาด (แบ่งตามชื่อรียก)

1. Hydrolyzed Collagen 
    ไฮโดรไลซ์ คอลลาเจน (Hydrolyzed Collagen) คือ คอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการย่อยบางส่วนแล้ว  เพื่อให้ได้คอลลาเจนที่มีขนาดและความยาวที่สั้นลง (collagen dipeptide และ collagen tripeptide) โดยปกติจะมีกรดอะมิโนเรียงต่อกัน ไม่เกิน 20 ตัว จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมที่ดียิ่งขึ้น โดยดูดซึมได้ดีกว่าคอลลาเจนทั่วไป 3-4 เท่า ซึ่งปัจจุบันวัตถุดิบคอลลาเจนที่ได้มาตรฐานน่าจะเป็น ไฮโดรไลซ์ คอลลาเจน ทั้งหมดแล้วค่ะ (Hydrolyzed เป็นชื่อของกระบวนการนะคะ คือกระบวนการตัดให้สั้นลง) 
    นอกจากนี้ร่างกายจะดูดซึมคอลลาเจนจากกระเพาะอาหารได้ดีกว่าทางผิวหนัง ทำให้การเติมคอลลาเจนให้แก่ผิวด้วยการรับประทานสารสกัดคอลลาเจนอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ให้เติมเต็มริ้วรอยและลดความเหี่ยวย่นของผิวอย่างได้ผล สามารถดูดซึมและถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของการสร้างผม ผิวหนัง เล็บ และกระดูกได้ง่าย 

2. Collagen Tripeptide 
    คอลลาเจนไตรเปปไทด์ (Collagen-tripeptide) คือ คอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการไฮโดรไลซ์ (Hydrolyze) จนทำให้มีขนาดที่เล็กลง ขนาดโมเลกุลประมาณ 500-1,000 Daltons ประกอบไปด้วยกรดอะมิโน 3 ตัว หนึ่งในนั้นคือไกลซีน (Glycine) ซึ่งมาจากการย่อยคอลลาเจนโมเลกุลใหญ่ ทำให้มีคุณสมบัติย่อยและดูดซึมได้ดี ซึ่งจากผลการทดสอบนั้นพบว่า ร่างกายสามารถดูดซึมคอลลาเจนไตรเปปไทด์ได้ดีกว่าคอลลาเจนทั่วไปถึง 3 เท่าเลยทีเดียว

3. Collagen Dipeptide 
    คอลลาเจนไดเปปไทด์ (Collagen-dipeptide) คือ คอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการไฮโดรไลซ์ (Hydrolyze) จนทำให้มีขนาดที่เล็กลง ขนาดโมเลกุลประมาณ 200 Daltons มีโครงสร้างเป็นกรดอะมิโนที่เรียงต่อกันเพียง 2 ตัวเท่านั้น จึงทำให้โมเลกุลมีขนาดเล็กมากทำให้ไม่จำเป็นต้องถูกย่อยที่กระเพาะอาหาร แต่ จะถูกลำเลียงและดูดซึมที่ลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าตรงสู่เซลล์เป้าหมายอย่างเซลล์ผิวหนัง เซลล์กระดูก และเซลล์กระดูกอ่อนได้เลย

การสังเคราะห์คอลลาเจน

    การสังเคราะห์คอลลาเจนเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน เกิดขึ้นในนิวเคลียสของเซลล์ผิวหนัง fibroblast และในเซลล์กระดูก osteoblast โดยมีสายพอลีเปปไทด์ที่เรียกว่า โปรโตคอลลาเจน (protocollagen) ซึ่งกรดอะมิโนเหล่านี้จะถูกกระตุ้นทำให้กรดอะมิโนโพรลีน (Proline) และไลซีน (Lysine) ถูกเติมหมู่ไฮดรอกซิล (hydroxyl group) โดยกระบวนการ hydroxylation กลายเป็น ไฮดรอกซีโพรลีน(hydroxyproline) และไฮดรอกซีไลซีน (hydroxylysine)  ที่ทำให้การยึดเส้นใยหน่วยย่อยของคอลลาเจนให้เป็นมัดที่เสถียร โดยกระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นที่ไรโบโซมและทำให้เกิดโปรคอลลาเจน (procollagen) ขึ้น  จากนั้นโปรคอลลาเจนจึงถูกเติมหมู่น้ำตาลโดยกระบวนการ glycosylation แล้วสายโพลีเปปไทด์สามสายจะพันเป็นเกลียว (triple helix) โดยการเกิดพันธะไดซัลไฟด์ แล้วโปรคอลลาเจนจะถูกขนส่งออกนอกเซลล์ ส่วนปลายสายทั้งสองข้างของโมเลกุลโปรคอลลาเจนจะถูกตัดได้ด้วยเอนไซม์ procollagen peptidase ทำให้เปลี่ยนไปเป็นโทรโปคอลลาเจน (tropocollagen)  หลังจากนั้นโทรโปคอลลาเจนหลายๆ โมเลกุลจะรวมตัวกันโดยการเกิดพันธะโควาเลนต์ เชื่อมประสานระหว่างโมเลกุลโดยเอนไซม์ lysyl oxidase เรียงตัวเป็นเส้นใย (fibril) ซึ่งอยู่ในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(อ้างอิง)

การเสื่อมสลายของคอลลาเจน

    การเสื่อมสลายของคอลลาเจนที่เรียกว่า โปรตีโอไลซิส (proteolysis) จะทำให้คอลลาเจนที่อยู่ในเนื่อเยื่อเกี่ยวพันแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ เกิดขึ้นโดยเอนไซม์เมทริกซ์เมทัลโลโปรตีเนส (matrix metalloproteinase หรือ MMPs) ที่ถูกคัดหลั่งออกจากเซลล์ เอนไซม์ที่สามารถตัดย่อยคอลลาเจน (collagenases) ได้ ตัวอย่างเช่น MMP-1 (Collagenase-1) คัดหลั่งจากเซลล์ fibroblast สามารถย่อยสลายคอลลาเจนชนิดที่ 1, 2, 3, 7, 8, 10 และเจลาติน ดังนั้นการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ MMPs จะช่วยทำให้คอลลาเจนถูกทำลายลดลงได้

วิตามินซีกับการสร้างคอลลาเจน

    วิตามินซี มีชื่อทางเคมีที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า กรดแอสคอร์บิค (ascorbic acid)  มีบทบาทต่อการสร้างคอลลาเจนในปฏิกิริยาไฮดรอกซิเลชั่น (hydroxylation) โดยวิตามินซีจะเข้าไปช่วยเอนไซม์ ซึ่งเป็นการเติมหมู่ไฮดรอกซีบนโมเลกุลของกรดอะมิโนโพรลีนและไลซีนในโปรคอลลาเจน โดยเอนไซม์โพรลิลไฮดรอกซีเลส (Prolyl hydroxylase) และไลซิลไฮดรอกซีเลส (Lysyl hydroxylase) จะใช้วิตามินซีเป็นปัจจัยร่วมช่วยในการเสริมสร้างคอลลาเจนให้แข็งแรงได้ นอกจากนี้วิตามินซียังช่วยลดการสร้างเอนไซม์ matrix metalloproteinases (MMPs) ทำให้คอลลาเจนถูกทำลายได้น้อยลง(อ้างอิง)

การเลือกวิตามินที่ช่วยเสริมการทำงานของคอลลาเจน

 วิตามิน ซี จะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญที่ช่วยชะลอการสลายของคอลลาเจน 
• วิตามิน เอ จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของไฟโบรบลาสต์ (fibroblast) ที่มีหน้าที่สร้างคอลลาเจนและอิลาสตินของร่างกาย ที่ทำให้ผิวพรรณยังเต่งตึง 
• วิตามิน อี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำงานควบคู่กับวิตามิน ซี 
• หลีกเลี่ยงน้ำตาล เพราะน้ำตาลจะทำให้เกิดกระบวนการไกลเคชัน (glycation) ที่มากเกินไป ส่งผลให้คอลลาเจนเสียรูปร่างและไม่ยืดหยุ่นแบบที่ควรเป็น

สรุปหลักการเลือกคอลลาเจนบำรุงผิว

ข้อควรคำนึง
“คอลลาเจนจัดเป็นโปรตีน เมื่อเรากินเข้าไป จะถูกย่อยกลายเป็นกรดอะมิโนค่ะ ซึ่งอวัยวะที่ต้องการกรดอะมิโนไม่ได้มีแค่ที่ผิวนะคุณๆ (สมอง หลอดเลือด ข้อกระดูก และแทบทุกวัยวะก็ต้องการกรดอะมิโน ไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอค่ะ) การกินคอลลาเจนที่ไม่ได้ออกแบบมาดีพอ จึงมักไปซ่อมแซมส่วนอื่นของร่างกายก่อนที่จะมาที่ผิวเป็นลำดับสุดท้าย”
    
1. ควรเลือก Collagen type I เพราะเป็นคอลลาเจนที่พบได้มากที่สุดในผิว เพื่อให้ไป target ที่ผิวโดยตรง
2. เป็นคอลลาเจนขนาดเล็ก เพื่อจะได้ดูดซึมได้เร็ว คือ collagen dipeptide และ collagen tripeptide เป็นคอลลาเจนที่ดูดซึมได้เลยไม่ต้องผ่านการย่อยที่กระเพาะอาหารซะทั้งหมด
3. ควรมีนวัตกรรมล็อคการเรียงตัวของกรดอะมิโน เพื่อให้ออกฤทธิ์ที่ผิวได้ดี ซึ่งตรงนี้ยังเป็นงานวิจัยจากบริษัทผู้ผลิตนะคะ นั่นคือการเรียงตัวของคอลลาเจนควรมีการเรียงตัวของกรดอะมิโนที่ใกล้เคียงกับคอลลาเจนในชั้นผิวถ้าเป็น collagen tripeptide ควรมีการเรียงตัวเป็น Gly-Pro-Hyp หรือระบุว่าเป็น HACP แต่ถ้าเป็น collagen dipeptide ควรเป็นโครงสร้าง (Pro-Hyp) หรือ (Hyp-Gly)
*ตรงนี้เจ้าของแบรนด์ต้องดู COA ถึงจะรู้นะคะ COA ต้องระบุไว้ ถ้าไม่ระบุ ให้คิดได้เลยว่ามีมีและควรเขียนเพิ่มไว้ที่หน้ากล่องเพื่อให้ลูกค้าเห็นด้วยค่ะ เพราะหลายๆแบรนด์ละเลยเรื่องการเขียนที่หน้ากล่อง ทั้งที่วัตถุดิบเลือกมาได้ดี 
4. มีปริมาณของคอลลาเจนมากพอที่จะออกฤทธิ์เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว คือไม่ต่ำกว่า 5,000 mg/วัน แต่ อย. กำหนดให้ไม่เกิน 10,000 mg/วัน (ทั้งนี้อยู่ที่เทคโนโลยีของ raw material ด้วยค่ะ)
5. ถ้าอยากให้ช่วยเรื่องผิวขาวใส ต้องเพิ่ม active ingredient ตัวอื่นมาช่วย เพราะคอลลาเจนเน้นลดเลือนริ้วรอย และควรเพิ่มวิตามินซีเข้ามาช่วยเรื่องกระตุ้นการสร้างและลดการแตกหักของคอลลาเจน

ผู้ประกอบการอาหารเสริมหรือผู้ที่สนใจเรื่องคอลลาเจนสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คัมภีร์รวมข้อมูลคอลลาเจน

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความ   ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views

4450

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “