เขียนโดย : Gurucheck

Views 2082

2024-02-29 10:00

(กูรูเช็ค) อัปเดตงานวิจัย ข้าวไฮบริดโปรตีนสูง ทางลัดสู่อาหารที่ยั่งยืนที่ผู้ประกอบการควรรู้

กูรูเช็ค

ข้าวเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก ซึ่งข้าวปกติก็จะมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่สูง แต่หากเป็นข้าวแห่งยุคอนาคตที่มีงานวิจัยตีพิมพ์ออกมานี้เป็นข้าวที่มีปริมาณโปรตีนสูงขึ้น ไขมันเพิ่มขึ้น จึงอาจเหมาะเป็นอาหารที่รวมแหล่งพลังงานอย่างดีให้กับร่างกาย กูรูเช็คจึงอยากแนะนำข้าวไฮบริดนี้ให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจทราบถึงข้อมูลการวิจัยเบื้องต้นว่าสามารถทำได้ยังไง และอาจป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ในอนาคต

ที่มาของงานวิจัย

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอนเซประเทศเกาหลีใต้ใด้คิดค้นข้าวไฮบริดที่จะให้ทั้งโปรตีน ไขมันและลดการปล่อยคาร์บอนไปพร้อมๆ กัน ด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อวัวลงในเมล็ดข้าวเป็นครั้งแรก เพื่อให้ได้ “ข้าวไฮบริด” ที่เต็มไปด้วยสารอาหารและรสชาติดี ทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีนที่ลดการปล่อยคาร์บอนได้ดีโดยทุกๆ 100 กรัมของโปรตีนที่ผลิตได้ ข้าวลูไฮบริดจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 6.27 กิโลกรัม ในขณะที่เนื้อวัวปล่อยมากกว่า 8 เท่าซึ่งอยู่ที่ 49.89 กิโลกรัม 

กลยุทธ์การพัฒนาอาหารลูกผสมที่อุดมด้วยสารอาหาร เป็นการรายงานวิจัยครั้งแรกโดยใช้เมล็ดข้าวร่วมกับการเคลือบนาโนและเซลล์เนื้อวัว เพื่อความยั่งยืนของอาหารและเพิ่มสารอาหารให้ครบจบในข้าวลูกผสม นอกจากนี้ยังมีการรายงานความปลอดภัยด้านอาหาร พบว่าข้าวลูกผสมนี้มีอัตราการทำให้เกิดความเสี่ยงการแพ้ต่ำและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งการทดลองเป็นการเพาะเลี้ยงเซลล์ 3 มิติ (3D cell culture) คือการสร้างสภาพแวดล้อมเทียมภายในภาชนะเลี้ยงเซลล์ (cell culture vessel) ให้คล้ายกับการเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกายที่เซลล์เจริญเติบโตแบบสามมิติ (3D) เพื่อเลี้ยงเซลล์ โดยการทดลองนี้เป็นการเลี้ยงเซลล์แบบ scaffold คือ เป็นการเลี้ยงเซลล์ใน scaffold (โครงเลี้ยงเซลล์)  ซึ่งส่วนใหญ่ scaffold ผลิตจากชีววัสดุจากธรรมชาติ เช่น คอลลาเจน เจลาติน เพื่อให้เซลล์ยึดเกาะโครงสร้างนี้

ขั้นตอนการวิจัย

โดยขั้นตอนการวิจัยสรุปได้คร่าวๆ คือจะนำสารเคลือบเมล็ดข้าวที่สามารถรับประทานได้ ประกอบด้วยเจลาตินจากปลาและเอนไซม์ทางอาหารที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างเมล็ดข้าวและเซลล์เนื้อ (Bovine myoblasts และ adipose tissue-derived mesenchymal stem cells : adMSCs) เพื่อช่วยปรับปรุงเสถียรภาพทางโครงสร้างของเมล็ดข้าวและเพื่อเพิ่มความจุของเซลล์เนื้อที่เคลือบบนเมล็ดข้าว แล้วนำไปเพาะเลี้ยง 11 วัน เพื่อให้ได้ข้าวลูกผสมที่จะเพิ่มทั้งปริมาณโปรตีนและไขมันในเมล็ดข้าว ข้าวลูกผสมนี้จะมีโปรตีนมากกว่าข้าวปกติ 8% และไขมันมากกว่า 7%

ถือว่าเป็นงานวิจัยที่เพิ่มศักยภาพของข้าวในการเป็นอาหารที่ยั่งยืนซึ่งสอดรับกับการต้านวิกฤตการณ์ด้านอาหารและภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน โดยทีมวิจัยมีแผนจำหน่ายข้าวลูกผสมนี้ในเชิงพาณิชย์ในอนาคต สนนราคากิโลกรัมละประมาณ 2.23 ดอลลาร์สหรัฐ (80.56 บาท) ขณะที่เนื้อวัวแพงกว่า 6 เท่า โดยมีราคาราว 14.88 ดอลลาร์สหรัฐ (537 บาท)

นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังสามารถเป็นอาหารทางเลือกทดแทนเนื้อสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง งานวิจัยชิ้นนี้ชี้แนะถึงความเป็นไปได้ของข้าวไฮบริดที่มีสารอาหารจากเนื้อสัตว์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงเกือบ 8 เท่า และยังราคาถูกกว่า 6 เท่า ทำให้ข้าวนี้อาจจะไปช่วยวิกฤตการณ์ด้านอาหารโลก อาหารทางทหาร หรือแม้แต่อาหารในอวกาศได้ในอนาคต

สรุป

ข้าวไฮบริดเป็นข้าวที่มีการรวมข้าวเข้ากับเซลล์เนื้อสัตว์ ทำให้เพิ่มปริมาณโปรตีนและไขมันในเมล็ดข้าวเมื่อเทียบกับข้าวปกติ ส่งผลดีต่อการบริโภคข้าวไฮบริดนี้เพราะจะได้รับสารอาหารที่เพิ่มขึ้น เหมาะกับท้องที่ที่ขาดแคลนอาหารหรือบุคคลที่ต้องการสารอาหารมากขึ้น

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

กูรูเช็คขอบคุณข้อมูลจาก

https://doi.org/10.1016/j.matt.2024.01.015
เขียนโดย : Gurucheck

Views

2082

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “