เขียนโดย : Gurucheck

Views 1628

2024-09-13 15:00

(กูรูเช็ค) อัปเดตเทรนด์ใหม่ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเปปไทด์

กูรูเช็ค

ในต่างประเทศตลาดอาหารเสริมเปปไทด์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยโพรไบโอติกหลายสายพันธุ์ได้ผ่านการศึกษาและระบุมาแล้วว่าเป็นแหล่งในการสร้างเปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพออกมาแล้วส่งผลดีต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้อาหารเสริมหลายตัวใช้เปปไทด์เพื่อต้านจุลชีพทั้งในแบบเปปไทด์บริสุทธิ์ หรือบางครั้งใช้ในรูปโพสไบโอติก 

กูรูเช็คเลยอยากแนะนำเทรนด์อาหารเสริมเปปไทด์นี้ เพราะในปีต่อๆไป เทรนด์การดูแลสุขภาพด้วยโพรไบโอติกก็ยังมาแรง ดังนั้นถ้าใช้เปปไทด์ที่ได้จากโพรไบโอติกมาใส่ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเลยก็น่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภค เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องจุลินทรีย์นั้นยังมีชีวิตมั้ย เพราะเราใช้สารที่จุลินทรีย์นั้นผลิตออกมาเลยโดยตรง

 

ความสำคัญของอาหารเสริมเพื่อสุขภาพทางเดินอาหาร

สถานการณ์สุขภาพที่ทั่วโลกต้องเผชิญอยู่คือการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารทำให้มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจุลชีพในทางเดินอาหารมากยิ่งขึ้น ทำให้มีปัญหาสุขภาพด้านนี้กันเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมีปัญหาในการผลิตน้ำย่อย รวมถึงประสิทธิภาพของการดูดซึมที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบอื่นๆ ในร่างกาย นอกจากนี้มักพบการติดเชื้อของแบคทีเรียก่อโรคในทุกเพศทุกวัย ซึ่งกระทบต่อปัญหาด้านทางเดินอาหารและอาจลุกลามรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งได้

ส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาตัวช่วยเพื่อดูแลสุขภาพทางเดินอาหารโดยหนึ่งในตัวช่วยที่จะช่วยป้องกันปัญหาของระบบทางเดินอาหารได้นั้นก็คือ อาหารเสริมหรือโภชนเภสัช ที่มีคุณสมบัติในการดูแลสุขภาพระบบทางเดินอาหาร เพิ่มความสามารถในการย่อยและดูดซึม ปรับสมดุลการขับถ่าย ลดการอักเสบ ไปจนถึงกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้คนมักโฟกัสไปที่โพรไบโอติก 

ซึ่งแน่นอนการที่โพรไบโอติกส่งผลดีต่อระบบทางเดินอาหาร มาจากการที่โพรไบโอติกมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพและส่งผลผลิตที่ได้จากการทำงานนั้นออกมาเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพและกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ ต่อไปนั่นคือสิ่งที่เราต้องการ

สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ว่านั้นหมายรวมถึง "เปปไทด์" ที่ได้จากโพรไบโอติกด้วย

เปปไทด์คืออะไร

เปปไทด์คือ กรดอะมิโนตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปเรียงต่อกันด้วยพันธะเปปไทด์สายสั้นๆ ซึ่งในที่นี้เปปไทด์ก็หมายถึงสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพรูปแบบหนึ่งที่โพรไบโอติกสร้างขึ้น ดังนั้นการรับประทานโพรไบโอติกที่สามารถสร้างเปปไทด์ได้ ก็จะได้รับเปปไทด์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทางเดินอาหารได้ 

การได้รับเปปไทด์มีข้อดีกว่าการกินโพรไบโอติก ตรงที่สามารถออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้เลย ไม่ต้องรอโพรไบโอติกที่มีชีวิตเพื่อสร้างเปปไทด์ออกมาอีกที

การใช้ประโยชน์จากเปปไทด์เพื่อส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหาร

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบางรายก็ใช้เปปไทด์ต้านจุลชีพจากแบคทีเรียกรดแลคติกหรือแบคเทอริโอซิน ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ช่วยลดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคและส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อโพรไบโอติกในทางเดินอาหารอีกด้วย หลากหลายผลิตภัณฑ์ได้มีการใช้เปปไทด์จากพืชหรือสัตว์เป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารเสริมเพื่อส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหาร

โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมักใช้คำว่า “แบคเทอริโอซิน(Bacteriocin)” “ไนซิน (Nisin)” หรือ “ผลิตภัณฑ์จากแบคทีเรียกรดแลคติก (Product of lactic acid bacteria)” ระบุไว้ในส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์

ตัวอย่างของเปปไทด์

ตัวอย่างของเปปไทด์ที่จำแนกตามบทบาทหน้าที่และกลไกการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเดินอาหารมีดังนี้

  1. เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ควบคุมการเคลื่อนตัวของอาหารหรือการบีบตัวของทางเดินอาหาร

ตัวช่วยเพื่อเพิ่มระยะเวลาที่อาหารอยู่ในทางเดินอาหารเพื่อเพิ่มการดูดซึมและย่อยสารอาหารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น เปปไทด์จากถั่วเหลือง เปปไทด์เคซีนในนมวัว เปปไทด์กลูเตนในข้าวสาลี เปปไทด์จากไข่ขาวเป็ด

  1. เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ควบคุมเกราะป้องกันทางกายภาพของลำไส้

เป็นเกราะป้องกันลำไส้ทั้งเพิ่มความแข็งแรงของเยื่อบุผิวลำไส้ ซ่อมแซมแผลในผนังลำไส้ เพื่อป้องกันการเกิดลำไส้รั่วและเพิ่มความสามารถของระบบทางเดินอาหารในการดูดซึมสารอาหาร เช่น เปปไทด์เคซีนในนมวัว เปปไทด์จากนมควาย เปปไทด์จากปลา เปปไทด์จากถั่วเหลือง และเปปไทด์กลูเตนในข้าวสาลี

  1. เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ควบคุมเกราะป้องกันทางเคมีของลำไส้

ช่วยเพิ่มการหลั่งมิวซินซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่หลั่งออกมาจากเซลล์เยื่อเมือกในลำไส้ เช่น เปปไทด์จากถั่วเหลือง เปปไทด์จากไข่ขาวเป็ด เปปไทด์จากนมลา เปปไทด์จากนมวัว และเปปไทด์กลูเตนในข้าวสาลี

  1. เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ควบคุมเกราะป้องกันทางชีววิทยาของลำไส้

มีฤทธิ์ส่งเสริมการเจริญเติบโตของโพรไบโอติก และ/หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรค พร้อมกับปรับสมดุลจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร เช่น เปปไทด์จากไข่ขาวของไข่ไก่ เปปไทด์จากไข่ขาวของเป็ด เปปไทด์จากโอโวทรานส์เฟอริน เปปไทด์กลูเตนในข้าวสาลี และเปปไทด์จากนม

  1. เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ควบคุมเกราะป้องกันทางภูมิคุ้มกันวิทยาของลำไส้

ลดการสร้างสารชักนำการอักเสบ เช่น IL-6, IL-8, IL-17 และ TNF-α ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบของลำไส้ เช่น เปปไทด์จากเวย์โปรตีน เปปไทด์เคซีนในนมวัว เปปไทด์จากไลโซไซม์ของไข่ไก่ เปปไทด์จากไข่แดง เปปไทด์จากถั่วเหลือง เปปไทด์จากกลูเตนข้าวโพด และเปปไทด์จากผลกีวี

  1. เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในเซลล์ลำไส้

ช่วยป้องกันหรือลดการอักเสบที่ถูกเหนี่ยวนำจากสารอนุมูลอิสระในลำไส้ เช่น เปปไทด์จากนม เปปไทด์จากเยื่อเปลือกไข่ และเปปไทด์ฟอสวิตินจากไข่แดง

ความก้าวหน้างานวิจัยด้านเปปไทด์

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนักวิจัยจากไบโอเทค สวทช. ประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการผลิตไลโซไซม์เปปไทด์จากไข่ขาวของไข่ไก่ ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อเชื้อแบคทีเรียก่อโรค นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์ต้านอักเสบของเซลล์ลำไส้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบจากลิโพโพลิแซคคาไรด์ (LPS) และเมื่อปีที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับคณะผู้วิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ พัฒนาระบบนำส่งไลโซไซม์เปปไทด์ ซึ่งพบว่าระบบนี้เพิ่มความเสถียรของไลโซไซม์เปปไทด์ในแบบจำลองกระเพาะอาหารและแบบจำลองลำไส้ รวมทั้งเพิ่มฤทธิ์การต้านการอักเสบได้เป็นอย่างดี ทำให้ไลโซไซม์เปปไทด์พร้อมระบบนำส่งมีศักยภาพที่จะถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน เพื่อการดูแลสุขภาพทางเดินอาหารแบบองค์รวมได้ในเร็วๆ นี้

ไลโซไซม์เปปไทด์จากไข่ขาวของไข่ไก่พร้อมระบบนำส่ง มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อเชื้อแบคทีเรียก่อโรค และยังมีฤทธิ์ต้านอักเสบของเซลล์ลำไส้ได้เป็นอย่างดี
เขียนโดย : Gurucheck

Views

1628

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “