เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views 1673

2024-09-12 16:00

(กูรูเช็ค)ประโยชน์โพรไบโอติกตามหลัก GUT-SKIN AXIS ปรับสมดุลผิว

กูรูเช็ค

คุณๆ คนไหนที่สิวขึ้นไม่หยุด รวมถึงมีปัญหาผิวหน้าบ่อยๆ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเกราะป้องกันผิว (SKIN BARRIER) ไม่แข็งแรงรึเปล่า? และที่เกราะป้องกันผิวไม่แข็งแรง ส่วนหนึ่งก็มาจากความไม่สมดุลของระบบนิเวศของจุลินทรีย์บนผิว (SKIN MICROBIOME) นั่นเอง เพราะผิวเราต้องเผชิญกับมลภาวะภายนอกเป็นประจำ จะส่งผลให้จำนวนจุลินทรีย์ที่ดีบนผิวลดลง และเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผิวเริ่มอ่อนแอ ซึ่งเป็นที่มาของหลายๆ ปัญหาผิว เช่น การเกิดสิว ผิวแห้ง และริ้วรอย รักษามาหลายวิธีทั้งการใช้ SKINCARE หรือใช้ยาจากแพทย์ผิวหนังก็แล้ว แต่อาการเหล่านั้นยังไม่ดีขึ้น กูรูเช็คแนะนำให้ลองปรับสมดุลลำไส้โดยใช้โพรไบโอติกดูก่อนนะ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าโพรไบโอติก(PROBIOTICS) คืออะไร และสำคัญกับผิวเรายังไง?

โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ที่ดี เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะมีคุณสมบัติทนต่อสภาวะความเป็นกรดและด่างของร่างกาย สามารถยึดเกาะที่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้แล้วผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดร้ายอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต้านเชื้อก่อโรค รักษาสมดุลของระบบจุลินทรีย์ในลำไส้ และระบบภูมิคุ้นกันในร่างกาย

• ทำไมเราถึงต้องรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้? โพรไบโอติกให้ประโยชน์ยังไงต่อร่างกาย?
การรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้คือการที่เราสามารถฟื้นฟูจุลินทรีย์ชนิดดี โดยการเพิ่มจำนวน หรือให้อาหารสำหรับจุลินทรีย์ที่ดีเหล่านั้น เพื่อให้สามารถกำจัดจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคได้ ดังนั้นประโยชน์ของโพรไบโอติกหลักๆ แล้ว คือ
- ช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้
- ปกป้องเยื่อบุผิวลำไส้ที่เป็นปราการด่านแรกในการโจมตีของเชื้อก่อโรคที่เกิดจากระบบย่อยอาหาร
- ต้านการอักเสบ 
- กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้(GUT MOTILITY) ช่วยการทำงานระบบขับถ่าย
- การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกไวต่ออวัยวะช่องท้อง(VISCERAL HYPERSENSITIVITY) เช่น ลดอาการในกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน
นอกจากนั้นแล้วยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกที่มีงานวิจัยออกมามากมายทั้ง
- ช่วยเรื่องการนอนหลับ ระบบประสาทและสมอง
- ช่วยในระบบการ DETOX ในตับ
- ช่วยในส่วนระบบทางเดินหายใจในปอด
- ไปจนถึงช่วยในเรื่องผิวพรรณ

• โพรไบโอติกมีส่วนเกี่ยวข้องกับผิวหนัง หรือที่เรียกว่า GUT-SKIN-AXIS 
สภาวะสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้สามารถส่งผลต่อสุขภาพผิวได้ นอกจากนี้มีรายงานพบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อเกิดภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล ที่เกิดจากจุลินทรีย์ชนิดร้ายมากกว่าจุลินทรีย์ชนิดดี ก็จะทำให้เกิดภาวะภูมิเพี้ยน(AUTOIMMUNE) และการอักเสบเกิดขึ้น ทั้งในลำไส้และผิวหนังด้วย (อ้างอิง)
และอย่างที่บอกว่าสภาวะสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้สามารถส่งผลต่อสุขภาพผิวได้ โดยไปลด OXIDATIVE STRESS ที่เกิดขึ้นในร่างกาย แล้วไปยับยั้งการตอบสนองต่อการอักเสบ และส่งผลไปยังระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งปัจจุบันก็มีงานวิจัยมากมายที่พบว่า ความผิดปกติของโพรไบโอติกในลำไส้อาจส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังรวมถึงสิวได้ด้วยเหมือนกัน (อ้างอิง)

• โพรไบโอติกช่วยแก้ปัญหาผิวด้านไหนบ้าง? 
การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีโพรไบโอติกสามารถส่งผลดีต่อจุลินทรีย์ในลำไส้หรือผิวหนังได้หลายส่วนมาก อย่างเช่น
1. สิว
มีรายงานพบว่าโพรไบโอติกในลำไส้ Streptococcus salivarius (S. salivarius) สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย P. acnes  โดยเฉพาะสายพันธุ์ K12 ที่เป็นสาเหตุการเกิดสิวได้ โดยผลิตสาร BLIS-LIKE SUNSTANCE ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสารคล้ายแบคเทอริโอซิน มีฤททธิ์ยับยั้งจุลินทรีย์ตัวร้ายชนิดอื่น 
(อ้างอิง) และสายพันธุ์ Bifidobacterium adolescentis ก็ช่วยเรื่องสิวนะ เพราะมีรายงานพบว่าโพรไบโอติก Bifidobacterium adolescentis SPM0308 มีประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อแบคทีเรียก่อสิวทั้ง C. acnes และ S. aureus โดยมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้ (อ้างอิง)

2. เสริมภูมิคุ้มกันและต้านการอักเสบผิว  
มีรายงานที่ทดสอบโดยให้ทานโพรไบโอติกมีส่วนผสมจุลินทรีย์ 2 สายพันธุ์คือ Lactobacillus acidophilus และ Lactobacillus bulgaricus พบว่า 80% ของคนที่เป็นสิวมีอาการทางคลินิกดีขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นสิวอักเสบ (อ้างอิง)
โดยมีรายงานจากบริษัทผู้ผลิตที่พบว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมที่มีโพรไบโอติก  Bifidobacterium breve BR03 DSM 16604, Lacticaseibacillus casei LC03 DSM 27537 และ Ligilactobacillus salivarius LS03 DSM 22776 ร่วมกับ LUPEOL ซึ่งเป็นสารสกัดจากพืชและสารสกัด ECHINACEA ที่เป็นพืช ในผู้ที่มีสิวบนใบหน้าจะพบว่าค่า GLOBAL ACNE GRADING SYSTEM(GAGS) ลดลง นั่นหมายความว่าสิวอุดตันลงลง แถมยังทำให้อาการของสิวอักเสบลดลงหลังจาก 8 สัปดาห์ที่ได้ทาน SYMBIOTIC DIETARY SUPPLEMENT(PROBIOTICS+PREBIOTICS) (อ้างอิง)

3. เสริม SKIN BARRIER

มีรายงานพบว่าโพรไบโอติกในลำไส้ยังมีส่วนช่วยปกป้อง SKIN BARRIER และสร้าง ANTIMICROBIAL PEPTIDES เช่น แบคทีเรียกรดแลคติค Streptococcus thermophilus ที่ช่วยเสริมการสร้างเซราไมด์ และเซราไมด์สฟิงโกลิพิดบางชนิด รวมถึงสฟิงโกไมอีลินที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย C.acnes ผ่านการสร้างเซราไมด์ ดังนั้นโพรไบโอติกจึงถูกนำมาใช้เพื่อเสริมเกราะป้องกันผิวหนังนั่นเอง
(อ้างอิง) อีกรายงานพบว่าการเสริมโพรไบโอติกด้วยสายพันธุ์ L. paracasei NCC2461 พบว่าช่วยลดการสูญเสียน้ำในผิวและผิวมีความไวต่อการแพ้ลดลง เป็นการเพิ่มการทำงานของ SKIN BARRIER และลดการอักเสบจากการกระตุ้นผิวได้ (อ้างอิง)

4. โรคสะเก็ดเงิน
มีรายงานที่ทดสอบโดยผู้ป่วย 286 ราย พบว่าการเสริมโพรไบโอติกในรูปแบบอาหารเสริมนั้นดีและมีประสิทธิภาพกว่ายาหลอกในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน (อ้างอิง)

อีกรายงานที่ทดสอบในหนูที่เป็นโรคสะเก็ดเงินที่เกิดจาก IMIQUIMOD พบว่าการเสริมด้วยโพรไบโอติกเป็นเวลาสองสัปดาห์ ส่งผลให้โรคสะเก็ดเงินบรรเทาลงได้อย่างมาก นั่นแปลว่าสายพันธุ์ Bifidobacterium adolescentis CCFM667, B. breve CCFM1078, Lactobacillus paracasei CCFM1074 และ L. reuteri CCFM1132 สามารถลดอาการแดง ลอก และหนาตัวของผิวหนังได้สำเร็จ แต่ B. animalis CCFM1148, L. paracasei CCFM1147 และ L. reuteri CCFM1040 แสดงผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (อ้างอิง

5. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง(ECZEMA)
มีรายงานพบว่าโพรไบโอติกมีส่วนช่วยป้องกันอาการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้ในอาหารทั่วไปได้และช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนัง(ATOPIC ECZEMA) ในวัยเด็กอีกด้วย  (อ้างอิง) จากการทดลองในปี 2012 พบว่าโพรไบโอติกสายพันธุ์  Lactobacillus rhamnosus HN001 สามารถป้องกัน ECZEMA ได้เมื่อได้รับในช่วง 2 ปีแรก และมีผลต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 4 ปี (อ้างอิง)
ส่วนอีกรายงานพบว่าการเสริม Bifidobacterium breve M-16V และ Bifidobacterium longum BB536 ก่อนและหลังคลอด มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคภูมิแพ้ โดยทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ในช่วง 18 เดือนแรกลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทารกในกลุ่มที่ได้รับโพรไบโอติก (อ้างอิง)

6. โรค ROSACEA
มีการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นโรค ROSACEA 60 ราย พบว่าในกลุ่มที่ได้รับโพรไบโอติก Bifidobacterium 57% มีอาการหายจากโรคอย่างสมบูรณ์เมื่อเทียบกับ 28% ในกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ การเพาะเชื้อในอุจจาระเมื่อสิ้นสุดช่วงการรักษายังพบว่าปริมาณ Lactobacillus และ Bifidobacterium เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ทดสอบที่ได้รับโพรไบโอติกอีกด้วย (อ้างอิง)

มี CASE REPORT ที่ศึกษาประสิทธิผลของการใช้ยาปฏิชีวนะและโพรไบโอติกร่วมกันในผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบที่หนังศีรษะ(SCALP ROSACEA) ผู้ป่วยรายนี้มีตุ่มหนองที่ใบหน้าและหนังศีรษะ โดยมีอาการแดงเป็นระยะๆ และรู้สึกแสบร้อนร่วมกับอาการเปลือกตาอักเสบและเยื่อบุตาอักเสบ ในการศึกษาเขาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา DOXYCYCLINE 40 mg/วันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ และทานร่วมกับโพรไบโอติกที่ประกอบด้วย Bifidobacterium breve BR03 และ Lactobacillus salivarius LS01 109 CFU วันละ 2 ครั้ง หลังจากนั้นให้หยุดการทานยาปฏิชีวนะแต่ยังคงให้ทานโพรไบโอติกต่อไป พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งอาการทางผิวหนังและดวงตา และหลังจาก 6 เดือนก็ไม่มีอาการกำเริบอีกเลย (อ้างอิง

7. ช่วยเพิ่มความกระจ่างใส
มีรายงานพบว่า Bifidobacterium adolescentis สามารถปรับการทำงานของไทโรซิเนสผ่านฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่งผลให้ปริมาณเมลานินลดลงและทำให้ผิวดูขาวขึ้นได้ (อ้างอิง) นอกจากนี้ยังพบว่า LACTIC ACID ที่ผลิตโดย Lactobacillus สามารถยับยั้งการสังเคราะห์เมลานินได้โดยตรง โดยการยับยั้งไทโรซิเนสและยังควบคุมการสังเคราะห์เมลานินโดยส่งผลต่อการแสดงออกของไทโรซิเนส, TYRP-1 และ TYRP-2  เพื่อปรับผิวให้กระจ่างใสขึ้น (อ้างอิง)

8. เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว
มีการศึกษาที่ได้รับการยืนยันว่าการเสริมด้วย Lactobacillus plantarum HY7714 สามารถช่วยเพิ่มระดับเซราไมด์โดยเพิ่มการแสดงออกระดับยีนบน mRNA ของ SERINE PALMITOYLTRANSFERASE(SPT) และลดการแสดงออกบน mRNA ของ CERAMIDASE ที่จะเป็นเอนไซม์ที่ช่วยเปลี่ยน CERAMIDE ไปเป็น SPHINGOSINE (อ้างอิง)
สำหรับ Lactobacillus acidophilus IDCC 3302 และ Lactobacillus helveticus FERMENTED MILK WHEY(LHMW) ก็สามารถส่งผลให้ผิวที่แห้งดีขึ้นและทำให้ค่า TEWL ลดลง จึงทำให้ความชุ่มชื้นของผิวยังคงอยู่ (อ้างอิง)

9. ANTI-PHOTOAGING 
จากรายงานพบว่าผู้ป่วยที่รับประทาน Lactobacillus plantarum HY7714 มีการสูญเสียความชื้นของผิวหนังลดลง ริ้วรอยลดลง และผิวมีความมันวาวและความยืดหยุ่นมากขึ้น (อ้างอิง) สำหรับสายพันธุ์ Lactobacillus acidophilus IDCC 3302 ก็มีรายงานว่าสามารถฟื้นฟูการลดลงของคอลลาเจนหลังการฉายรังสี UV ได้ (อ้างอิง) และสายพันธุ์ Lactobacillus sakei LIPOTEICHOIC ACID(sLTA) ก็มีรายงานว่าสามารถยับยั้งการเกิด PHOSPHORYLATION MAPK และบล็อกการสังเคราะห์ MMP-1 เมื่อสัมผัสกับรังสี UV ป้องกันการเสื่อมสภาพของคอลลาเจนหลังการสัมผัสรังสี UV (อ้างอิง)

10. ช่วยลดริ้วรอย
นักวิจัยพบว่า Lactobacillus KCCM12625P(AL) ที่ถูก HEAT-KILLED สามารถยับยั้งการสังเคราะห์ MMP-1 จึงป้องกันการเกิดริ้วรอยบนใบหน้าได้ ในขณะที่ Lactobacillus plantarum HY7714 สามารถยับยั้ง MMP-1 ที่เกิดจากรังสี UV รวมไปถึง MMP-2 และ MMP-9 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สายพันธุ์ Lactobacillus acidophilus IDCC 3302 ก็สามารถลดปริมาณ MMP-1, MMP-2 และ MMP-9 ในเซลล์ HaCaT ที่ได้รับแสง UV ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือว่าง่ายๆก็คือช่วยยับยั้งการเกิดริ้วรอยได้โดยการไปยับยั้ง MMP นั่นเองค่ะ (อ้างอิง)

• โพรไบโอติกในสกินแคร์มีไหม?
การทาครีมหรือเซรั่มโพรไบโอติกเฉพาะที่บนผิวหนังสามารถช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ซึ่งประกอบเป็น MICROBIOME ของผิวหนังได้ แถมโพรไบโอติกในครีมยังช่วยลดค่า pH ของผิวหนัง ทำให้พื้นผิวเป็นกรดเล็กน้อย ช่วยลดการเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย และส่งเสริมให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์เจริญเติบโตบนผิวหนัง แต่ถ้ามีการใส่พรีไบโอติกมาด้วยก็จะช่วยเสริมประสิทธิภาพได้มากขึ้นอีก โดยสามารถช่วยรักษาแบคทีเรียที่มีประโยชน์บนผิวเมื่อทาครีม และส่งเสริมการเจริญเติบโตและการอยู่รอดของจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีอยู่ใน MICROBIOME ของผิว ก็เลยสามารถช่วยรักษาความสมบูรณ์ของชั้นป้องกันผิวเพื่อให้ผิวให้ดูมีสุขภาพดีขึ้น โดยช่วยรักษาสมดุลของ MICROBIOME ที่มีประโยชน์

• SKIN CARE ก็มีงานวิจัยว่าใช้โพรไบโอติกเพื่อชะลอการแก่ก่อนวัย
โพรไบโอติกส์สามารถต่อต้านการแก่ก่อนวัยได้โดยการยับยั้งการสลายตัวของเซลล์และยืดอายุวงจรชีวิตของเซลล์ ในรายงานพบว่า Sphingomonas hydrophobicum (SH) .ในรูปแบบ SKIN CARE สามารถยับยั้งการผลิตโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับวัย เช่น P16 และ P21 ได้ เห็นมั้ยว่าโพรไบโอติกเนี่ยมีส่วนสำคัญต่อผิวเราอย่างมาก แถมยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย (อ้างอิง)

และด้วยความที่โพรไบโอติกมีหลายสายพันธุ์มาก ซึ่งแต่ละตัวก็ทำงานไม่เหมือนกัน นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเลือกกินโพรไบโอติกในปริมาณเยอะๆ และหลากหลายสายพันธุ์ด้วยนะ

สรุป
PROBIOTIC เป็นจุลินทรีย์ดีในลำไส้ บนผิวช่วยหล่อเลี้ยงจุลินทรีย์ดีให้เจริญเติบโตและแข็งแรงสามารถสู้กับจุลินทรีย์ที่ไม่ดีได้ จากการศึกษา การทดสอบประสิทธิภาพ และประโยชน์ของโพรไบโอติกกับผิวพบผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน ทั้งคนที่มีปัญหาเรื่องสิว สิวอักเสบ ผด ผื่น หรือโรคทางผิวหนังอื่นๆ ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกจึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมความแข็งแรง ปรับสมดุลให้ผิวด้วยนะ

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้  ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views

1673

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “