เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views 4255

2023-12-20 16:00

(กูรูเช็ค) เทรนด์อาหารสุขภาพแบบใหม่ ที่เจ้าใหญ่ 7-11 และ modern trade ใช้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

กูรูเช็ค

ถ้าหากจะเอาใจผู้บริโภคสายสุขภาพในปัจุบัน อาหารสำเร็จรูปที่วางขายตาม 7-eleven และ modern trade ใหญ่ๆ ก็มักจะมีการแสดงฉลาก GDA ให้ผู้บริโภคได้อ่านข้อมูลพลังงานงานอาหาร หวาน มัน เค็ม ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ ผู้ประกอบการต้องรู้อะไรบ้างกับฉลากนี้ คุณๆ ตามมาอ่านกันได้เลยค่ะ 

เทรนด์อาหารสุขภาพแบบใหม่ ที่เจ้าใหญ่ 7-11 และ modern trade ใช้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 
    เทรนด์สุขภาพใหม่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มคือทุกครั้งเมื่อจะหยิบอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานเข้าปาก นอกจากต้องคำนึงถึงรสชาติความเอร็ดอร่อยแล้ว สิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่สนใจคือ สารอาหารในส่วนผสม ปริมาณพลังงานที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดี ช่วยควบคุมไม่ให้น้ำหนักตัวเกิน และไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น แต่ปัญหาก็คือ จะเลือกอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานหรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้อย่างไร จะดูปริมาณพลังงานที่เหมาะสมได้ตรงไหน แหละนี่เองคือ หน้าที่และประโยชน์ของฉลากโภชนาการแบบ GDA ให้ผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาสนใจอ่านฉลากเลือกสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ฉลากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตอาหารเพื่อนำเข้ามาจำหน่ายในร้านเจ้าใหญ่อย่าง 7-Eleven หรือห้าง modern trade ต่างๆ

ฉลาก GDA คืออะไร

    ฉลากโภชนาการแบบ GDA (Guideline Daily Amount) หรือ ฉลากหวาน มัน เค็ม คือ ฉลากโภชนาการที่แสดงสัญลักษณ์ทางโภชนาการ ในรูปแบบเป็นค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม บนฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับเปลี่ยนให้มีการแสดงสัญลักษณ์ทางโภชนาการในรูปแบบให้อ่านและเข้าใจได้ง่าย เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคเน้นลดการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็ม และข้อมูลฉลากโภชนาการไปประยุกต์ใช้ในการเลือกบริโภคอาหารแต่ละวัน ให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายได้
    ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 394 (พ.ศ. 2561) เนื่องจากปัญหาสุขภาพของประชาชนจากภาวะโภชนาการเกินและโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะโรคอ้วนโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลก ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ มีนโยบายลดการบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม โดยกฎหมายกำหนดให้อาหาร 13 ประเภท ต่อไปนี้ ต้องแสดงฉลากโภชนาการ GDA ได้แก่

(1) ขนมขบเคี้ยว เช่น มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ถั่วหรือนัตอบ สาหร่ายทอด ปลาเส้นอบกรอบ 

(2) ช็อกโกแลต และขนมหวานรสช็อกโกแลต

(3) ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ได้แก่ ขนมปังกรอบ หรือแครกเกอร์หรือบิสกิต เวเฟอร์สอดไส้ คุกกี้ เค้ก พาย เพสตรี้ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้ 

(4) อาหารกึ่งสําเร็จรูป ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว, ก๋วยจั๊บ, บะหมี่, เส้นหมี่และวุ้นเส้นไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตาม พร้อมซองเครื่องปรุง ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง

(5) อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารคาวจานเดียวซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นและตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจําหน่าย

(6) เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เช่น เครื่องดื่มที่มีหรือทำจากผลไม้ พืชหรือผักหรือไม่ใช่ 

(7) ชาปรุงสำเร็จ ทั้งชนิดเหลวและชนิดแห้ง 

(8) กาแฟปรุงสำเร็จ ทั้งชนิดเหลวและชนิดแห้ง 

(9) นมปรุงแต่ง 

(10) นมเปรี้ยว 
(11) ผลิตภัณฑ์ของนม 
(12)น้ำนมถั่วเหลือง  
(13) ไอศกรีมที่อยู่ในลักษณะพร้อมบริโภค 

ชวนรู้จักฉลาก GDA (Guideline Daily Amounts)

    หากผู้ประกอบการสนใจที่จะใช้ฉลาก GDA บนผลิตภัณฑ์ ทางกูรูเช็คก็รวบรวมข้อควรรู้ก่อนทำฉลาก GDA ให้คุณๆ ทราบก่อนการตัดสินใจทำ ตามรูปแบบดังนี้
• รูปทรงกระบอกหัวท้ายมนแนวตั้งเรียงติดกันจํานวน 4 แท่ง เพื่อแสดงค่า พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ตามลําดับ
• สีขอบของทรงกระบอกให้แสดงสีใดสีหนึ่งดังต่อไปนี้คือสีดํา หรือสีน้ําเงินเข้ม หรือสีขาว แล้วแต่กรณีและต้องตัดกับสีพื้นของฉลาก
• สีพื้นภายในรูปทรงกระบอกต้องเป็นสีขาว เท่านั้น
• เส้นขีดภายในรูปทรงกระบอกทุกเส้นให้เป็นเส้นสีดําหรือสีน้ำเงินเข้ม และต้องเป็นสีเดียวกับสีตัวอักษรที่แสดงภายในรูปทรงกระบอก
• ให้แสดงไว้ที่ส่วนหน้าของฉลาก ที่เห็นได้ง่ายและอ่านได้ชัดเจน

องค์ประกอบและวิธีการคำนวณของฉลากโภชนาการแบบ GDA

1. “คุณค่าทางโภชนาการต่อ....” แสดงปริมาณที่เข้าใจง่ายต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ เช่น 1 ถ้วย, 1 ซอง โดยแสดงด้านบนรูปทรงกระบอก
2. “ควรแบ่งกิน.... ครั้ง” แสดงจำนวนครั้งที่แนะนำให้กิน 
ที่คำนวณได้จาก (ปริมาณหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์/ปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค)
โดยแสดงไว้ใต้ “คุณค่าทางโภชนาการต่อ....”
3. แสดงข้อความ “พลังงาน” “น้ำตาล” “ไขมัน” “โซเดียม” ด้วยสีเดียวกันกับเส้นที่ขีดภายในรูปทรงกระบอก
4. แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม เป็นค่าต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ที่คำนวณได้จาก
ปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค × จำนวนหน่วยบริโภค (ควรแบ่งกิน.... ครั้ง) 
การแสดงหน่วยของค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ต้องแสดงดังนี้
    -    หน่วยของพลังงานเป็น กิโลแคลอรี
    -    หน่วยของน้ำตาลเป็น กรัม หรือ ก.
    -    หน่วยของไขมันเป็น กรัม หรือ ก.
    -    หน่วยของโซเดียมเป็น มิลลิกรัม หรือ มก.

5. แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม เป็นร้อยละ ซึ่งปริมาณสูงสุดที่แนะนำคือ ในหนึ่งวันไม่ควรได้รับพลังงานเกิน 2,000 กิโลแคลอรี น้ำตาล 65 กรัม ไขมัน 65 กรัม และโซเดียม 2,400 มิลลิกรัม 
6. แสดงข้อความ “*คิดเป็นร้อยละของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน” ไว้ใต้รูปทรงกระบอก

** เครื่องมือช่วยคำนวณฉลาก GDA:  https://exfood.fda.moph.go.th/KM/GDA_Label/index.php

ขั้นตอนในการดำเนินการเรื่องฉลากโภชนาการแบบ GDA

1) ผู้ประกอบการผลิตอาหารต้องศึกษา และทำความเข้าใจกฎหมาย เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะผลิต จัดเป็นอาหารประเภทใดใน และเป็นอาหารที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีฉลากโภชนาการแบบ GDA หรือไม่ สถานที่ผลิต เข้าข่ายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 420 (พ.ศ. 2563) เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต การเก็บรักษาอาหาร กฎหมายกำหนด (GMP) และโฆษณาหมายถึงฉลากและสื่อ

2) ผู้ควบคุมการผลิตอาหารที่ต้องผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เช่น ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลวที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยวิธีพาสเจอไรซ์ และอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทชนิดที่มีความเป็นกรดต่ำและชนิดที่ปรับกรด 

3) การนำผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ โดยระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน

4) เมื่อได้ผลการทดสอบและฉลากโภชนาการ ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ระบุตามกฎหมายกำหนดแล้ว ต้องรวบรวมเอกสาร หลักฐานต่างๆ ตามข้อกำหนดการขอขึ้นทะเบียนอาหารนั้น(คลิก) 


5) ยื่นขอขึ้นทะเบียนอาหารกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

กระบวนการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ (Testing)

    คือ กระบวนการตรวจสอบส่วนผสมหรือคุณค่าทางโภชนาการ สำหรับอาหารจะมีการทดสอบด้านคุณภาพ เป็นการตรวจวิเคราะห์หาองค์ประกอบของอาหาร สารอาหาร วัตถุเจือปนอาหารนั้นว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่อย่างไร และด้านความปลอดภัยเพื่อตรวจหาการปนเปื้อนต่างๆ เช่น ด้านกายภาพ (เศษหิน ดิน ทรายและซากสัตว์) ด้านเคมีและฟิสิกส์ (โลหะหนัก สารเคมีกำจัดแมลง สารพิษจากเชื้อรา) ด้านเชื้อโรคต่างๆ และด้านการดัดแปรพันธุกรรมและสารก่อภูมิแพ้ สามารถส่งผลิตภัณฑ์อาหารของผู้ประกอบการไปตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการเพื่อจัดทำฉลากโภชนาการรูปแบบ GDA หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.centrallabthai.com/index.php/th/services/lab-testing/service-1
ซึ่งเป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รับรองให้เป็นหน่วยตรวจและจัดทำฉลากโภชนาการ

ประโยชน์ของฉลากโภชนาการรูปแบบ GDA

1. ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าเพื่อบริโภคให้เหมาะสมกับความต้องการ หรือภาวะทางโภชนาการของตนได้ เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวาน ก็เลือกอาหารที่ระบุปริมาณน้ำตาลต่ำ หรือ ผู้ที่เป็นโรคไตก็เลือกอาหารมีโซเดียมต่ำ

2. ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารชนิดเดียวกัน โดยเลือก ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าได้

3. ในปัจจุบันผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันกันผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าหรืออาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น นอกเหนือจากเรื่อง Packaging หรือสิ่งจูงใจภายนอกอื่น ๆ ฉลากโภชนาการมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคอาหารสำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณคุณค่าสารอาหารตรงตามความต้องการของร่างกายได้อย่างเหมาะสม

    ดังนั้นผู้บริโภคจึงไม่ควรละเลยหรือมองข้ามฉลากโภชนาการ การอ่านข้อมูลโภชนาการบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ จะทำให้ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารตามที่เราต้องการได้ มาถึงตรงนี้หวังว่าข้อมูลที่ทีมกูรูเช็คนำมาเรียบเรียงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มโอกาสแข่งขันในท้องตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ตัวเอง

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความ   ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views

4255

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “