เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views 2524

2024-05-17 17:00

(กูรูเช็ค)โพรไบโอติก กับระบบทางเดินอาหาร และลำไส้ดีอย่างไร ช่วยอะไรบ้าง

กูรูเช็ค

• โพรไบโอติกกับระบบทางเดินอาหาร

โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์มีชีวิตที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อสุขภาพของเรา โดยแบคทีเรียที่มีชีวิตที่อาศัยอยู่เป็นเชื้อประจําถิ่นในทางเดินอาหาร เช่น Lactobacillus spp. และ Bifidobacterium spp. เป็นโพรไบโอติกสองชนิดหลักที่ถูกนํามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และเป็นส่วนประกอบอยู่ในอาหารประเภทโยเกิร์ต เครื่องดื่มเสริมโพรไบโอติก และอาหารเสริมโพรไบโอติก  จุลินทรีย์ชนิดนี้ทนทานต่อกรดและด่าง และนับเป็นจุลินทรีย์ประเภทที่มีประโยชน์ ทำหน้าที่คล้ายกับเกราะที่ยึดเกาะอยู่กับเยื่อบุลำไส้ คอยสร้างสารออกมาช่วยกำจัดจุลินทรีย์ไม่ดีชนิดอื่นๆ ได้

การนําประโยชน์ของโพรไบโอติกสายพันธุ์ต่างๆ มาใช้ทั้งในด้านการป้องกันและรักษาโรครวมถึงส่งเสริมการทํางานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อที่บริเวณทางเดินอาหาร โรคและความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร กลไกหลักในการป้องกันการเกิดโรคและการอักเสบที่ทางเดินอาหารคือการทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่บริเวณทางเดินอาหาร การอาศัยอยู่ของโพรไบโอติกที่บริเวณเยื่อเมือกผนังลําไส้จึงสามารถต้านการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคได้โดยตรง การควบคุมสมดุลปริมาณจุลินทรีย์ที่ทางเดินอาหารจะส่งผลต่อสุขภาพของเรา (อ้างอิง)

ระบบทางเดินอาหาร ทำหน้าที่ย่อยอาหารที่เรากิน ให้กลายเป็นสารอาหารที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งนอกจากน้ำย่อยชนิดต่าง ๆ แล้ว ในระบบทางเดินอาหารยังประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และอาจเป็นโทษ หากมีจุลินทรีย์ชนิดดีในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ตามปกติ มีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายด้าน แต่ถ้ามีจุลินทรีย์ไม่ดีมากกว่าก็อาจทำให้เกิดความไม่สมดุล และเกิดความผิดปกติในร่างกาย

• โพรไบโอติกดูแลระบบทางเดินอาหารอย่างไร ?

โรคและความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งโพรไบโอติกมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการ และลดความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินอาหาร ที่พบได้บ่อย ก็จะมี

• ท้องเสีย สาเหตุส่วนหนึ่งของอาการท้องเสียเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และปรสิตที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ทำให้มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ บางคนอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด และอาเจียน โดยโพรไบโอติกบางสายพันธุ์อาจช่วยลดอาการท้องเสีย ลดความถี่ของการถ่ายอุจจาระ และช่วยลดอาการท้องเสียในผู้ที่มีภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง (Lactose Intolerance) โพรไบโอติกสายพันธุ์ L. rhamnosus GG อาจช่วยลดความเสี่ยงของอาการท้องเสียจากการกินยาปฏิชีวนะมากเกินไป และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องร่วงจากการติดเชื้อได้

• โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร อาจเกิดจากการย่อยอาหารผิดปกติ ความเครียด และพันธุกรรม ซึ่งทำให้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย อาการเหล่านี้มักเป็นเรื้อรัง ไม่มีวิธีรักษาได้โดยตรง แพทย์มักให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการกินอาหารและให้กินยาตามอาการ ปัจจุบันมีการนำโพรไบโอติกมาใช้รักษาโรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งมีการศึกษาส่วนหนึ่ง พบว่าโพรไบโอติกกลุ่มแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ และทำให้การขับถ่ายกลับมาเป็นปกติ (อ้างอิง)

• โรคกระเพาะอาหาร สาเหตุที่พบบ่อย คือการติดเชื้อแบคทีเรีย (H. Pylori) หรืออาจเกิดจากการกินยาบางชนิดและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ทำให้มีอาการไม่สบายท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ และอาเจียน การกินโพรไบโอติกเป็นอีกวิธีที่อาจช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดี และยับยั้งการเติบโตของเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (H. Pylori) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระเพาะและการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

• กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมายังหลอดอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร และพฤติกรรมต่างๆ เช่น กินอาหารปริมาณมาก เข้านอนทันทีหลังกินข้าว การดื่มน้ำอัดลมและแอลกอฮอล์ ทำให้มีอาการจุกเสียด แสบร้อนกลางอก และเรอเปรี้ยว การกินโพรไบโอติกอาจช่วยบรรเทาอาการของกรดไหลย้อน สร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียชนิดไม่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร และช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น 

• โรคมะเร็งลำไส้ (Colorectal Cancer) อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และการกินอาหารที่มีไขมันสูงและใยอาหารต่ำ ทั้งนี้การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร โดยเน้นกินผัก ผลไม้ และอาหารที่มีส่วนช่วยในการขับถ่าย รวมถึงการมีจุลินทรีย์ชนิดดี อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้

โพรไบโอติกมีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร โดยช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายให้สามารถควบคุมจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในทางเดินอาหาร และผลิตเอนไซม์ที่ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยต้านการอักเสบ สร้างวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ยังมีผลต่อสุขภาพด้านอื่นได้ เช่น โพรไบโอติกกับสมดุลผิว, โพรไบโอติกกับสมองอารมณ์, โพรไบโอติกดูแลจุดซ่อนเร้น, โพรไบโอติกกับระบบทางเดินหายใจ และดูแลตับด้วยนะ  (อ้างอิง)

• วิธีดูแลสุขภาพทางเดินอาหาร ระบบย่อยอาหาร และลำไส้

• กินอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่
อาหารที่มีใยอาหารประเภทพรีไบไอติก ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของจุลินทรีย์โพรไบโอติกในลำไส้ 
• กินอาหารช้าๆ ช่วยให้กระเพาะอาหารมีเวลาในการย่อยอาหารมากขึ้น และยังทำให้ไม่กินอาหารมากจนเกินไป 
• ดื่มน้ำให้เพียงพอ ช่วยป้องกันอาการท้องผูก
• หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลและน้ำตาลเทียมมากเกินไป เพราะทำให้จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารไม่สมดุล (dysbiosis) เมื่อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารไม่สมดุล จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วนและโรคทางระบบประสาทส่วนกลางได้
• จัดการกับความเครียด ไม่เครียด ระบบทางเดินอาหารเปรียบเหมือนสมองที่สองของร่างกาย ความเครียดแม้เพียงเล็กน้อยสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นความเครียดทางด้านจิตใจ ร่างกายหรือสภาพแวดล้อม รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ 
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะภาวะน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วนทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือมะเร็งทวารหนักมากขึ้น
• ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหลายชนิด รวมถึงมะเร็งลำไส้และมะเร็งทวารหนัก
• หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มมีความเชื่อมโยงต่อโรคมะเร็งลำไส้และทวารหนัก
• ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะใช้เอง ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งยา เนื่องจากยาปฏิชีวนะอาจทำลายจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่างสมดุล

สรุป 

สุขภาพที่ดีเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการดูแลตัวเอง และการที่เราดูแลตัวเองต้องเริ่มต้นจากภายใน โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เพราะลำไส้ เป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ไม่เพียงแต่มีหน้าที่ลำเลียงอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ยังมีหน้าที่ดูดซึมสารอาหารและลำเลียงของเสียออกจากร่างกายอีกด้วย ทั้งนี้ลำไส้ยังเปรียบเสมือนสมองส่วนที่สอง ภูมิคุ้มกันเราส่วนใหญ่อยู่ที่ลำไส้ ควรมีจุลินทรีย์ที่สมดุล และควรกินอาหารที่มีโพรไบโอติกร่วมกับพรีไบโอติก อย่างเช่น ใยอาหารในผักและผลไม้ เพราะพรีไบโอติกเปรียบเสมือนแหล่งอาหารของโพรไบโอติก

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้  ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

เขียนโดย : กูรูเช็ค

Views

2524

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “