เขียนโดย : ภญ.เยาวธิดา เทพศิริ

Views 11902

2023-07-25 17:00

(กูรูเช็ค) รีบรู้จักด่วน! โรคกรดไหลย้อน ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ

• โรคกรดไหลย้อน คืออะไร?

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease – GERD) เป็นภาวะที่มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้มีอาการระคายเคืองบริเวณลำคอและแสบร้อนยอดอกหรือจุกเสียดใต้ลิ้นปี่ รวมทั้งมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย

• อาการของกรดไหลย้อน

• รู้สึกปวดแสบร้อนจากช่วงยอดอกไปจนถึงลิ้นปี่
• มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาที่ปากและลำคอ
• มีอาการจุกเสียด แน่นท้องคล้ายอาหารไม่ย่อย อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
• เรอบ่อยหลังรับประทานอาหาร
• เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อย ๆ
• กลืนอาหารได้ลำบาก มีอาการเจ็บคอ รู้สึกระคายเคืองตลอดเวลา

• สาเหตุของกรดไหลย้อน

ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารที่ทำหน้าที่ป้องกันกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าในคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว
ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทานเข้าไปลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น

• ยาที่ใช้รักษากรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การรับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอน การสูบบุหรี่ หรือพฤติกรรมอื่นๆที่เป็นการเร่งให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยยาควบคู่กันไป

1.ALUMINIUM HYDROXIDE + MAGNESIUM HYDROXIDE + SIMETHICONE
ตัวอย่างยี่ห้อ Antacil Gel® (แอนตาซิล เยล), Belcid® (เบลสิด), Brygel® (ไบร์เยล), Alum milk® (อะลั่ม มิ้ลค์)

กลไก ออกฤทธิ์ลดกรดโดยการสะเทิน(ทำให้เป็นกลาง)กับกรดในทางเดินอาหาร เมื่อความเป็นกรดในกระเพาะอาหารลดลง จึงทำให้อาการปวดหรือแสบท้องบรรเทาลงได้ 
วิธีใช้ ยาลดกรดชนิดน้ำ ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ เด็กอายุ 7-12 ปี รับประทานครั้งละครึ่งช้อนโต๊ะ

2.Ranitidine (แรนิทิดีน)
ตัวอย่างยี่ห้อ Xanidine® (ซานิดีน), Zanamet® (ซานาเมท), Zantac® (แซนแท็ก)

กลไก ยับยั้งการทำงานของสารฮีสตามีน (Histamine) ที่เรียกว่า Histamine H2 receptor antagonist ทำ ให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารลดน้อยลง
วิธีใช้ รับประทานครั้งละ 150 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น หรือรับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 8 - 12 สัปดาห์

3.Famotidine (ฟาโมทิดีน)
ตัวอย่างยี่ห้อ Famoc® (ฟาม็อก), Ulfamet® (อัลฟาเมต), Fasidine® (ฟาซิดีน)

กลไก ยับยั้งการทำงานของสารฮีสตามีน (Histamine) ที่เรียกว่า Histamine H2 receptor antagonist ทำ ให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารลดน้อยลง 
วิธีใช้ รับประทานวันละ 1 - 2 เม็ด วันละ 1-2 ครั้ง ตามแพทย์สั่ง

4.โอเมพราโซล (Omeprezole)
ตัวอย่างยี่ห้อ Losec MUPS® (โลเซค เอ็มยูพีเอส), Miracid® (มิราซิด), O-Sid® (โอ-ซิด)

กลไก ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่เรียกว่า Hydrogen-potassium Adenosine triphosphatase ทำให้ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงทำให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้น 
วิธีใช้ รับประทาน 20 มิลลิกรัม วันละครั้งก่อนอาหาร เป็นเวลา 4 – 8 สัปดาห์ และเมื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ให้รับประทาน ครั้งละ 10 มิลลิกรัม และเพิ่มเป็น 20 - 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง
ขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น 

5.แลนโซพราโซล(Lannsoprazole) 
ตัวอย่างยี่ห้อ Prevacid® (พรีวาซิด)

กลไก ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่เรียกว่า Hydrogen-potassium Adenosine triphosphatase ทำให้ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงทำให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้น 
วิธีใช้ รับประทาน 15 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนอาหารเช้าประมาณ 30 นาทีเป็นเวลา 8 สัปดาห์

6.เอสโอมิพราโซล (Esomeprazole)
ตัวอย่างยี่ห้อ Nexium® (เน็กเซียม)

กลไก ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่เรียกว่า Hydrogen-potassium Adenosine triphosphatase ทำให้ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงทำให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้น     
วิธีใช้ รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ หากอาการโรคยังไม่หายสนิทให้ลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง โดยรับประทานต่อตามคำสั่งแพทย์ 

7.เมโทโคลพราไมด์(Metoclopramide)
ตัวอย่างยี่ห้อ Plasil® (พลาซิล)

กลไก ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่า โดพามีน (Dopamine) มีผลให้กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น และทำให้มวลของอาหารเคลื่อนตัวและถูกส่งต่อไปตามลำไส้ได้โดยไม่ได้กระตุ้นการหลั่ง กรดน้ำดี และน้ำย่อยจากตับอ่อน อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างมีการหดตัวและกระชับ 
วิธีใช้ รับประทานครั้งละ 10 - 15 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง โดยรับประทานยาก่อนอาหาร 30 นาที 

• สมุนไพรที่ใช้รักษากรดไหลย้อน

1. ขมิ้นชัน 
เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณกระตุ้นการหลั่งเมือกมาเคลือบกระเพาะอาหาร , ช่วยยั้บยั้งการหลั่งน้ำย่อยและช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารอีกด้วย นอกจากนี้ขมิ้นชันยังช่วยขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้อีกด้วย

2. ขิง 
เป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและช่วยกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้ลดอาการท้องอืด , ท้องเฟ้อ นอกจากนี้ขิงยังช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้อีกด้วย

3. ลูกยอ 
มีสารสำคัญ คือ sacopoletin (สโคโปเลติน) สามารถลดการอักเสบของหลอดอาหารจากกรดไหลย้อนได้ดี เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ นอกจากนี้ยังช่วยต้านการหลั่งกรด รักษาแผลในกระเพาะอาหารและทำให้การบีบตัวของระบบทางเดินอาหารดีขึ้นอีกด้วย

4. ว่านหางจระเข้ 
เป็นสมุนไพรที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งเมือกมาเคลือบกระเพาะอาหาร , ช่วยยั้บยั้งการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารอีกด้วย

5. กล้วย 
สามารถบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้เป็นอย่างดีเนื่องจากมีใยอาหารชนิดเพคตินที่ช่วยลดอาการแสบร้อนกลางอกได้

• โรคที่มีอาการคล้ายกับโรคกรดไหลย้อน

1.โรคแผลในกระเพาะอาหาร
2.โรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร
3.โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย

ทางทีมกูรูเช็คหวังว่าข้อมูลที่ทีมรวบรวมมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณๆทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้  ฝากติดตามข้อมูล รีวิว สุขภาพและความงาม ตามหลักการแพทย์ได้ที่ช่องกูรูเช็คนะคะ

กูรูเช็คขอบคุณข้อมูลจาก
1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคกรดไหลย้อน/เกิร์ด (Gastroesophageal reflux disease/GERD)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 533-536.
2. บำรุงราษฎร์  “โรคกรดไหลย้อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bumrungrad.com  [21 มิ.ย. 2017].
3. พบแพทย์ดอทคอม. “สมุนไพรหนึ่งในวิธีการรักษากรดไหลย้อนให้หายขาด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : pobpad.com.  [21 ก.ค. 2017].


เขียนโดย : ภญ.เยาวธิดา เทพศิริ

Views

11902

“ เราเชื่อว่าข้อมูลทางวิชาการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับใครหลาย ๆ คนกูรูเช็คขอเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอข้อมูลสุขภาพและความงามตามหลักการแพทย์ที่ได้รับการวิจัยและมีข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อให้ทุกคนมีความสุขกับการเริ่มต้นดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นค่ะ “